บทบรรณาธิการ
ปรากฏการณ์ตัวเลขการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 กระทั่งเดือนล่าสุด -4.6% จากก่อนหน้านี้ที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดการณ์ว่า ปีนี้ทั้งปีเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญตัวนี้อาจจะขยายตัวได้ในระดับ 2-3%
โดยการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องดังกล่าว เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้กำลังซื้อและออร์เดอร์จากประเทศคู่ค้าที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นตลาดสหรัฐ ยุโรป รวมถึงจีนที่เศรษฐกิจดูเหมือนจะฟื้นตัวได้ แต่ก็ไม่ดีเหมือนที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดไว้
แน่นอนว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบมาถึงภาคการผลิตของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลาย ๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เม็ดพลาสติก, น้ำมันสำเร็จรูป, เคมีภัณฑ์, เครื่องจักรและส่วนประกอบ, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ
รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร บริษัทเล็กใหญ่ต่างได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน บ้างก็ได้รับผลกระทบทางตรง บ้างก็ได้รับผลกระทบทางอ้อม ดีกรีความรุนแรงอาจจะมากน้อยลดหลั่นกันไป
หลายบริษัทหลายโรงงานต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เน้นการประคองตัวเองไปก่อน หลายบริษัทต้องลดกำลังการผลิตลง บ้างต้องลดโอทีลง ลดกะการทำงานลง หรือบางแห่งอาจจะถึงขั้นลดคนงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอาจจะเริ่มประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง
และอีกด้านหนึ่งก็ยังคงต้องมอนิเตอร์กันเดือนต่อเดือนว่าการส่งออกจะกลับมาได้หรือไม่ และช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก็ยังไม่รู้จะเป็นอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งยังส่งผลในแง่ของกำลังซื้อตามมาด้วย
ก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้ภาครัฐเร่งช่วยกระตุ้นการส่งออก และบรรเทาผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว โดยเฉพาะการออกมาตรการดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ เช่น ค่าไฟฟ้า พลังงาน ค่าโลจิสติกส์
การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) และการส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีใน FTA ฉบับเดิมให้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดเป้าหมายใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น กิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ การจัดงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
นี่คือโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่ ต้องเร่งแก้ อย่างน้อยที่สุดการส่งออกถือเป็น 1 ใน 4 เครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย และมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของจีดีพี หากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อลากยาวออกไปก็ย่อมจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพรวมที่ยากจะแก้ไขเยียวยา