การกำกับดูแลหนี้ครัวเรือน

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่มีการปรับปรุงใหม่ ปรากฏตัวเลขหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 90.6% ต่อ GDP (ณ ไตรมาส 1/2566) ขยับเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 15.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 86.3% ต่อ GDP

โดยองค์ประกอบของหนี้ครัวเรือนภายใต้ข้อมูลชุดใหม่ แยกตามการกำกับดูแล ณ ไตรมาสที่ 1/2566 พบว่า 73% ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. เป็นสินเชื่อบัตรเครดิตทั้งหมด 90% ของสินเชื่อบ้าน และ 2 ใน 3 ของสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อรถยนต์ ส่วนอีก 27% ที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. จะเป็นสินเชื่อรถยนต์ สหกรณ์ และสินเชื่อเพื่อการศึกษา

แต่หากแยกตามประเภทสินเชื่อ พบว่า 34% เป็นสินเชื่อบ้าน 11% เป็นสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งส่วนหนึ่งใช้ประกอบอาชีพ 27% เป็นสินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคล 28% เป็นสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ กองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) และอื่น ๆ

สอดคล้องกับการประเมินหนี้ครัวเรือนปี 2566 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ว่า แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นตามความครอบคลุมของข้อมูล แต่ก็ยังไม่เปลี่ยนภาพใหญ่ที่หนี้เติบโตช้าลง “สวนทาง” เศรษฐกิจที่กำลังทยอยฟื้นจากโควิด-19 สิ้นสุดลง

โดยแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2566 นั้นคาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ตามฐานข้อมูลชุดปรับปรุงใหม่จะชะลอลงมาอยู่ที่กรอบ 88.5-91% ซึ่งหมายถึงสัดส่วนหนี้ครัวเรือนก็ยังคงสูงกว่าระดับ 80% ต่อ GDP ส่งผลให้ ธปท.จะต้องเร่งออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน

ไม่ว่าจะเป็น 1) การปรับปรุงฐานตัวเลขหนี้ครัวเรือนของประเทศให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 2) การปรับปรุงกฎหมายเพื่อขยายขอบเขตการกำกับดูแลไปยังธุรกิจเช่าชื้อหรือลีสซิ่ง การหารือกับสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อย และการกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือครอบคลุมลูกหนี้ให้มากที่สุด 3) การกำหนดลูกหนี้ “กลุ่มเป้าหมาย” 4) กลุ่มที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือและการวางกรอบหลักเกณฑ์การสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

ได้แก่ เกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending : RL), กลไกการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (risk based pricing : RBP), มาตรการ macroprudential policy (MAPP) หรือการให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ การกำหนดมาตรการดูแลการก่อหนี้ใหม่ที่ไม่พึงประสงค์ การปล่อยสินเชื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และเหลือเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงควรที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ตามแนวทางที่ ธปท.จะใช้ในการกำกับดูแลหนี้ครัวเรือนทั้งหมด