เศรษฐกิจฟุบ “สินเชื่อรายใหญ่” ฝืด ดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งออกติดลบ

ส่งออก

เทรนด์สินเชื่อรายใหญ่ชะลอตัว แบงก์ชี้เศรษฐกิจฟื้นไม่ทั่วถึง-ธุรกิจออกหุ้นกู้แทนกู้แบงก์ เผยไตรมาสแรกโตติดลบ 4.1% “ทีทีบี” ชี้ดอกเบี้ยขาขึ้น “เคแบงก์” ยอมรับส่งออกไม่ดี กดดันยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ “กรุงศรีฯ” ยันกรณี STARK ไม่ใช่ต้นเหตุแบงก์เข้มปล่อยกู้ “ทิสโก้” ขอเลือกเซ็กเตอร์ลูกค้า

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วงที่เหลือของปี 2566 ประเมินว่าจะขยายตัวในกรอบบาง ๆ อยู่ที่ 0.5-2% หรือมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 4.78 ล้านล้านบาท จากปี 2565 ที่มีอัตราการเติบโต -2.6% หรือยอดคงค้างอยู่ที่ 4.71 ล้านล้านบาท

ดอกเบี้ยขาขึ้นคือปัจจัย

ภาพรวมสินเชื่อไตรมาสที่ 1/2566 มีอัตราเติบโต -4.1% ซึ่งลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2565 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทยอยคืนสินเชื่อ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยขยับขึ้น ภาคธุรกิจจึงหันไประดมทุนผ่านหุ้นกู้ หรือธุรกิจที่มีสภาพคล่องนำเงินมาชำระคืนธนาคาร

“หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นในระยะข้างหน้า ภาคธุรกิจคงกลับมาขอสินเชื่อมากขึ้น ส่วนความเข้มงวดเรื่องปล่อยสินเชื่อ มองว่าถ้าเศรษฐกิจยังไม่เอื้อและมีความเสี่ยง ธนาคารก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น”

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ปีนี้น่าจะทรงตัว หรือขยายตัวเล็กน้อย 1-2% ซึ่งมาจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ลูกค้าจึงระดมทุนผ่านตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้แทน โดยเห็นสัญญาณตั้งแต่ปลายปีก่อนถึงปัจจุบันที่หุ้นกู้โตก้าวกระโดด

Advertisment

ส่วนความเข้มข้นในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่นั้น ปกติธนาคารมีกระบวนการพิจารณาตามเครดิตอยู่แล้ว ยอมรับว่าช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ธนาคารจะพิจารณาลูกค้าลึกขึ้น โดยตรวจสอบความมีตัวตนของลูกค้าและธุรกิจทุก ๆ 3-6 เดือน โดยเฉพาะรายที่ต้องการสินเชื่อ ขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ดีต้องพิจารณามากขึ้น

“คนที่กู้เยอะ ลงทุนเยอะ แต่เศรษฐกิจไม่เป็นอย่างที่คิด อาจเหนื่อยหน่อย เพราะดอกเบี้ยขาขึ้น แต่รายได้ไม่ได้เติบโตตามนั้น ลูกค้ากลุ่มนี้เราพร้อมจะเข้าไปดูแล”

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงเศรษฐกิจไทยที่เติบโตในลักษณะ K shape จะเห็นการฟื้นตัวไม่ทั่วถึงในแต่ละประเภทธุรกิจ ขณะที่ท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับส่งออกยังมีแรงกดดัน ทำให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ทำได้เฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่มีศักยภาพ ส่วนเอสเอ็มอียังมีข้อจำกัดและกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวดี ปัญหาหนี้ยังสูง ดอกเบี้ยก็ปรับขึ้น จึงส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของลูกค้ายังอยู่ในระดับต่ำควบคุมได้ ในไตรมาสที่ 1/2566 อยู่ที่ 3.04% คาดว่าปีนี้จะไม่เกิน 3.25% โดยธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้ไว้เพียงพอ สะท้อนถึงการทำธุรกิจอย่างระมัดระวัง

Advertisment

“ไตรมาสแรกลูกค้าสินเชื่อธุรกิจบรรษัทยังมีความต้องการใช้สินเชื่อเพิ่ม ทั้งสินเชื่อระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ โดยธนาคารมุ่งให้สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมและธุรกิจในพอร์ตที่สอดคล้องกัน” นายกฤษณ์กล่าว และว่า

ธนาคารให้ความสำคัญและระวังการปล่อยสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ตามหลักเกณฑ์พิจารณาการให้สินเชื่อ โดยกำหนดตัวชี้วัดความเสี่ยงในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อเพิ่มเติมที่เป็นประเด็นเฉพาะธุรกรรม เช่น ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในมิติต่าง ๆ เพื่อบริหารติดตามความเสี่ยงด้านเครดิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เข้มสินเชื่อ ไม่เกี่ยวสตาร์ค

นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความต้องการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวในไตรมาสที่ 2/2566 เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว และภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมีผลต่อความต้องการบริโภคที่ลดลง ประกอบกับลูกค้าที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ระดับสูงจะระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มากขึ้น

ส่วนกรณี STARK ไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ปกติจะพิจารณาครอบคลุมเรื่องวัตถุประสงค์ ความสามารถในการชำระหนี้ และประเมินความเสี่ยงด้านต่าง ๆ หากลูกค้ามีความเสี่ยงก็ต้องบริหารร่วมกับลูกค้าให้อยู่ในกรอบมาตรฐานของธนาคาร

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดีจะเป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โรงพยาบาลและธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ กลุ่มสื่อสารและเทเลคอม พลังงาน ฯลฯ กลุ่มที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าคืออสังหาริมทรัพย์ ธนาคารจะดูแลไม่ให้หนี้เสียอยู่ในระดับต่ำ

“แม้จะมีกรณี STARK แต่เราไม่ได้เพิ่มความเข้มงวดเรื่องปล่อยสินเชื่อ หรือปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง เพราะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่เราสามารถนำเรื่อง STARK มาเรียนรู้และใช้เป็นกรณีศึกษาได้”

แห่ออกตราสารหนี้

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ของธุรกิจรายใหญ่ภายใต้การส่งออกชะลอตัว และทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น มองว่าในแง่สินเชื่อรายใหญ่ของระบบธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อย เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ลูกค้ารายใหญ่ที่มีเรตติ้งค่อนข้างดีหันไปออกตราสารหนี้ เช่น กลุ่มเรตติ้งที่มีระดับ มีศักยภาพ (investment grade) ระดับ A เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้มีสัดส่วนในการออกตราสารหนี้มากกว่าการใช้สินเชื่อของสถาบันการเงิน

ส่วนกลุ่มภาคการส่งออกภายใต้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว มองว่ามีทั้งกลุ่มที่ต้องการวงเงินเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากคำสั่งซื้อน้อยลง แต่มีการสต๊อกสินค้าไว้ ทำให้ต้องใช้วงเงิน หรือบางกลุ่มที่ไม่มีคำสั่งซื้อหรือดีมานด์ในการผลิต ก็จะชะลอการใช้วงเงินสินเชื่อ ดังนั้น ความต้องการสินเชื่อจะขึ้นกับกลุ่มลูกค้าและเซ็กเตอร์เป็นหลัก

ในส่วนของธนาคารทิสโก้จะเน้นปล่อยสินเชื่อในกลุ่มพลังงานและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันยังมีความต้องการสินเชื่อและขยายตัวได้ดี เช่น พลังงานทางเลือกผ่านการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป หรือทำในเรื่องกรีน คาดว่าสินเชื่อจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้

“ภาพรวม banking ในกลุ่มรายใหญ่ปีนี้อาจโตไม่มาก และการโตอาจต้อง selective ต้องปรับโฟกัสมากขึ้น ยอมรับว่าเศรษฐกิจโตไม่ทั่วถึง ทำให้การคาดการณ์ forecast ต้องปรับตาม เพราะดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งออกชะลอ คนหันไปออกหุ้นกู้มากขึ้น อย่างไรก็ดี มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อคงไม่ได้เข้มงวดขึ้น เพราะทุกแบงก์มีขั้นตอนตรวจสอบเครดิตอยู่แล้ว”

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) กล่าวว่า การฟื้นตัวของธุรกิจรายใหญ่น่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 แต่จากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกอาจต้องใช้เวลา พร้อมกับจัดการอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง แม้ภาคการท่องเที่ยวจะดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่การใช้จ่ายและกำลังซื้อกลับลดลง การส่งออกก็ไม่ดีนัก ทำให้การปล่อยสินเชื่อต้องรอบคอบและเลือกเซ็กเตอร์ที่เติบโตดี

ลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารจะเน้นกลุ่มส่งออก-นำเข้า โดยเฉพาะกลุ่มส่งออกอาหารฮาลาลยังขยายตัวได้ เนื่องจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้กลุ่มตะวันออกกลางต้องการความมั่นคงทางอาหารจึงกลายเป็นโอกาสของลูกค้า