กอบศักดิ์ กาง 3 โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจท้าทาย ครม. ชุดใหม่

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ภาพจากศูนย์ภาพมติชน

ดร.กอบศักดิ์ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย จับตาโหวตเลือกนายกฯ-ครม.ชุดใหม่ ชี้ชะตาประเทศไทย กางโจทย์เศรษฐกิจ 3 ประเด็นท้าทายรัฐมนตรีนั่งกระทรวงเศรษฐกิจ หวั่นรัฐบาลพรรคร่วมขาดเสถียรภาพดำเนินนโยบาย

วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ต้องลุ้นว่าภายในอีก 2 สัปดาห์ หรือปลายเดือน ก.ค.นี้จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามไทม์ไลน์ที่ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยประกาศไว้หรือไม่ โดยต้องลุ้นว่าการเลือกจะจบได้ภายในรอบเดียวหรือไม่ ซึ่งหากเป็นไปตามกำหนดก็จะได้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ช่วงต้นเดือน ส.ค. จากนั้นก็จะมีการจัดทำและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.

“คำถามยิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่อได้นายกฯ แล้ว ครม.ชุดใหม่จะมีเสถียรภาพแค่ไหน ใครอยู่ในตำแหน่งไหน ซึ่งหลังจากได้นายกฯ แล้ว เขาก็จะไปจัด ครม.กัน ก็เป็นการลุ้นอีกอย่าง เพราะมีนัยยะก็คือ พรรคไหนที่รับกระทรวงไหนไป ก็จะเป็นคนกำหนดทิศทางของกระทรวงนั้น ๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับราคาสินค้าเกษตร กระทรวงพลังงาน แล้วก็กระทรวงการคลัง ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับว่าการจัดสรรลงไปสู่ใคร”

ทั้งนี้ สิ่งที่คนตั้งคำถามก็จะมีเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล เรื่องนโยบาย และ ความท้าทายที่รออยู่ ซึ่งโจทย์ท้าทายที่สำคัญก็คือ การประคองเศรษฐกิจให้ผ่านช่วงที่โลกมีการถดถอย โดยเฉพาะล่าสุด รายงานของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชี้ว่าเฟดน่าจะยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามาดู เพราะจะมีผลกระทบมาถึงไทย

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า นอกจากประเด็นระยะสั้นแล้ว จะยังมีความท้าทายทางเศรษฐกิจ หลัง Perfect Storm ผ่านพ้นไป อีก 3 เรื่องที่สำคัญ และยังไม่มีคำตอบ โดยต้องรอ ครม.ชุดใหม่เข้ามาตอบคำถามเหล่านี้ ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เห็นได้ชัดจากพัฒนาการของ ChatGPT ซึ่งหมายความว่าการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี และการปรับเปลี่ยนของซัพพลายเชนต่าง ๆ จะปรับไปอย่างรวดเร็ว

“เราคงต้องหวังพึ่งพา ครม.ชุดใหม่ ในการจะนำพาเศรษฐกิจไทยไปสู่การก้าวขึ้นไปบนบันไดของเทคโนโลยีขั้นต่อไป ซึ่งจะมีนัยต่อไปถึงกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าอุตสาหกรรมแห่งอนาคตจะเป็นอย่างไร กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่าจะมีนโยบายเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างไรบ้าง รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ที่จะเป็นเรื่องรองรับ อย่างเพย์เมนต์ เป็นต้น แล้วก็รวมถึงกระทรวงที่จะทำวิจัย อย่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แล้วก็กระทรวงศึกษาธิการที่จะผลิตคนขึ้นมา ดังนั้น เป็นเรื่องใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้ คาบเกี่ยวหลายกระทรวง”

2.ขณะนี้มีเงินทุนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในภูมิภาค ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และการลงทุนเกี่ยวกับคลาวด์ เป็นต้น ซึ่งอาเซียนกำลังเป็นจุดสนใจ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญน้อยไป

“คุณวิกรม (กรมดิษฐ์) บอกว่า เวียดนาม ได้ 3 ประเทศไทยได้ 1 อันนี้น่ากังวลใจมาก เพราะหมายความว่าในอนาคต ถ้าทุกอย่างสร้างเสร็จ เราจะตกรุ่น แล้วเราก็จะวิ่งตามเขาไม่ทัน อันนี้ก็เป็นความท้าทาย ครม.ชุดใหม่ ซึ่งมีนัยกับ 3-4 กระทรวง มากที่สุดก็คือ คนดูแลสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับบีโอไอ ว่าจะขับเคลื่อนนโยบายการดึงดูดการลงทุนอย่างไร

กระทรวงพาณิชย์ที่จะมีเรื่อง FTA ซึ่งเรายังด้อยกว่าเวียดนาม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะต้องเปิดสิ่งต่าง ๆ ให้กับคนที่จะมาลงทุน รวมถึงกฎเกณฑ์การเข้าเมือง ความยากง่ายในการทำธุรกิจต่าง ๆ และสุดท้าย การตั้งสำนักงานใหญ่ (headquarter) ในประเทศไทย ซึ่งจะมีนัยไปถึงกระทรวงการคลัง”

ทั้งนี้ มองว่าโจทย์ดังกล่าวจะมีความสำคัญ และขึ้นกับว่าใครจะมาอยู่ในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และทำงานร่วมกันได้หรือไม่ พร้อมจะก้าวไปข้างหน้ากับประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่ยังไม่แน่ใจ
ส่วนความท้าทายสุดท้ายคือ ความขัดแข้งระหว่างจีนกับอเมริกา และความเสื่อมลงของอเมริกาในช่วงต่อไป ซึ่งไทยจะถูกกดดันให้เลือกข้าง โดยความขัดแย้งก็จะเป็นความขัดแย้งด้านสินค้า

“เราเป็นคนตัวเล็ก ๆ อยู่ระหว่างคชสารที่กำลังประสานงากัน ดังนั้น เรื่องนี้ก็สำคัญ เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทั้งหมด กระทรวงการต่างประเทศ ว่าเราจะตัดสินใจเรื่องการเชื่อมโยงอย่างไร แล้วก็ยังมีเรื่องการค้า เรื่องอื่น ๆ ว่าเราจะวางตัวอย่างไร ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญ แล้วหน้าตาของการจัดทัพ ครม.จะเป็นตัวกำหนดว่าประเทศไทยจะตอบโจทย์ 3 ข้อนี้ได้ดีมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้น ๆ ที่เกี่ยวกับกระทรวงการคลังด้วย”

ดร.กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า สิ่งที่กังวลก็คือ พรรคร่วมรัฐบาลจะทำงานร่วมกันอย่างไร เพราะจากตัวเลขที่ออกมาไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมาก เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งการทำงานก็ต้องมีหลายพรรคร่วมกัน ก็ต้องดูต่อไปว่ากลไกการทำงานร่วมกันจะเป็นอย่างไร เพราะสุดท้ายโจทย์ของทุกพรรคที่เข้ามา คือการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ทุกคนก็จะสร้างผลงานของตัวเองเป็นหลัก

“ก็ต้องรอดูว่าเขาแบ่งเค้กกันอย่างไร และสอดประสานกันอย่างไร จะช่วยตอบโจทย์ท้าทายเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนจะมีคำถามถึงการจัดตั้งรัฐบาล ว่าใครจะมา แล้วจะมีเสถียรภาพแค่ไหน ครม.แบ่งเค้กกันอย่างไร จะทำงานด้วยกันได้หรือไม่ อันนี้เป็นคำถามร่วมกันของตลาด ก็ต้องรอลุ้นกันต่อไป

นอกจากนี้ คำถามถัดไป ก็คือนโยบายที่ประกาศไปในช่วงเลือกตั้ง จะมาสู่การปฏิบัติอย่างไร อันนี้ก็สำคัญ เพราะหลายอย่างที่คนกังวลใจ อย่างเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จะทำเลยหรือไม่ เรื่องการทำให้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ง่ายขึ้น เปิดประเทศให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าประเทศได้ง่ายขึ้น แล้วก็ยังมีนโยบายเรื่องตลาดทุนที่จะตามมาอีก” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ประธานกรรมการ FETCO กล่าวด้วยว่า ในส่วนภาคตลาดทุนก็จับตาเช่นกัน และพร้อมจะเสนอมาตรการต่าง ๆ ในการกระตุ้นตลาดทุน ขณะเดียวกัน ในการหารือร่วมกันว่า ตลาดทุนกับรัฐบาลจะทำงานร่วมกันอย่างไรบ้าง ตอนนี้ทีมงานก็กำลังเตรียมนโยบายไว้เพื่อนำไปเสนอ รมว.คลังคนใหม่