แรงงานในอุตสาหกรรมถ่านหิน อาจหายไป 4 แสนตำแหน่งภายในปี 2035

เหมืองถ่านหิน
This aerial photo taken on November 28, 2022 shows excavators transferring coal at a port in Lianyungang, in China's eastern Jiangsu province. (Photo by AFP) / China OUT
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ
Bnomics ธนาคารกรุงเทพ

ถ่านหิน เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในภาคการผลิตไฟฟ้า

ข้อมูลจาก International Energy Agency (IEA) พบว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึงกว่า 12.3 จิกะตัน ในปี 2020 ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยถ่านหินคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของแหล่งพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า แต่กลับมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนเกือบ 3 ใน 4 ของภาคการผลิตไฟฟ้า

ในยุคที่โลกเริ่มหันไปหาพลังงานสะอาดมากขึ้น อุตสาหกรรมถ่านหินก็เลยเริ่มถูกลดความสำคัญลง และนั่นจึงทำให้คาดว่าในปี 2035 ตำแหน่งงานเกี่ยวกับเหมืองอาจหายไปกว่า 400,000 ตำแหน่งในปี 2035 หรือคิดเป็นการหายไปกว่า 100 คนต่อวันเลยทีเดียว

ทำไมแรงงานในอุตสาหกรรมถ่านหินถึงหายไป ?

สาเหตุหลัก ๆ เลยก็คือการที่ตลาดหันไปหาแหล่งผลิตพลังงานจากลม และจากแสงอาทิตย์ที่ราคาถูกกว่า และจากการที่ขาดการวางแผนในการจัดการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจในยุคหลังลดการใช้ถ่านหิน เป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้เกิดการลดลงของตำแหน่งงานเกี่ยวกับเหมืองถ่านหิน

ทาง Global Energy Monitor ได้จัดทำรายงานที่ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานทั่วโลก และพบว่าอาจมีแรงงานเหมืองถ่านหินกว่า 990,200 ตำแหน่ง ที่จะต้องหยุดการทำงาน เนื่องจากการปิดตัวลงของโรงงานถ่านหินในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งก่อให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานกว่า 37% ของพนักงานที่มีอยู่

มีความหมายว่าอย่างไรต่อเศรษฐกิจ ?

ตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับเหมืองถ่านหินนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในภูมิภาคเหมืองถ่านหินที่ตั้งอยู่ห่างไกล เนื่องจากเป็นเหมือนหมุดที่สำคัญต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างกำลังแรงงาน และการจ้างงานอย่างยั่งยืน ในเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยผู้บริโภคท้องถิ่น และขับเคลื่อนโดยข้อมูลเป็นหลัก

ทั้งนี้ แรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในแถบเอเชีย โดยประมาณการว่ามีแรงงานในเหมืองถ่านหินกว่า 2.2 ล้านคนในเอเชีย ส่งผลให้แรงงานเกี่ยวกับเหมืองในจีนกับอินเดียก็น่าจะต้องรับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการปิดตัวลงของเหมืองถ่านหิน

จีนมีคนงานในเหมืองถ่านหินกว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งผลิตถ่านหินได้เกินกว่า 85% ของถ่านหินในจีน หรือคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนถ่านหินทั่วโลก ในขณะเดียวกันทางตอนเหนือของจีนอย่างมณฑลชานซี มณฑลเหอหนาน และเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน มีการขุดถ่านหินมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก และจ้างแรงงานร้อยละ 32 ของคนงานเหมืองทั่วโลก หรือประมาณ 870,400 คน

คาดว่าภายในปี 2050 แค่แรงงานในเหมืองถ่านหินมณฑลชานซีของจีนอย่างเดียว ก็อาจหายไปกว่า 241,900 ตำแหน่งแล้ว

ในขณะที่อินเดีย ประเทศที่เป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีแรงงานในเหมืองถ่านหินเป็นครึ่งหนึ่งของมณฑลชานซี มีการจ้างงานแรงงานอย่างเป็นทางการราว ๆ 337,400 คน ในเหมืองที่ดำเนินการอยู่ (แม้ว่าในบางการศึกษาระบุว่าในเหมืองถ่านหินท้องถิ่น ทุก ๆ แรงงานเหมืองในระบบ 1 คน จะมีแรงงานเหมืองที่อยู่นอกระบบ 4 คน)

คาดว่าเหมืองถ่านหินที่รัฐบาลอินเดียเป็นเจ้าของ จะมีการเลิกจ้างแรงงานมากที่สุดราว ๆ 73,800 คน ในปี 2050 สิ่งเหล่านี้จึงเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของรัฐบาลที่มีส่วนในการวางแผนการเปลี่ยนผ่านแรงงานเหมืองถ่านหิน

นอกจากนี้ได้มีการคำนวณไว้อีกด้วยว่า หากประเทศและบริษัทผู้ผลิตถ่านหินดำเนินแผนการที่จะค่อย ๆ ลดการพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินลง คาดว่าในปี 2030 การใช้ถ่านหินทั่วโลกจะต้องลดลงกว่า 75% เพื่อลดอุณหภูมิในสภาพบรรยากาศโลกลงสัก 1.5 องศาเซลเซียส และถึงตอนนั้นจะมีแรงงานในเหมืองถ่านหินที่จำเป็นเหลืออยู่เพียง 252,200 คนเท่านั้น (คำนวณจากว่าผลิตภาพของแรงงานในปัจจุบันคือ ต้องใช้แรงงาน 337 คน เพื่อการผลิตถ่านหินทุก ๆ 1 ล้านตัน)

นอกจากนี้ Global Energy Monitor ยังพบว่าเหมืองถ่านหินส่วนใหญ่ที่จะปิดตัวลงในทศวรรษข้างหน้านี้ ไม่มีแพลนที่จะยืดการดำเนินการออกไป หรือเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจยุคหลังลดการใช้ถ่านหิน

แน่นอนว่าโลกเรากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าการใช้ถ่านหินแบบในปัจจุบัน การปิดเหมืองถ่านหินนั้นจึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการวางแผนเปลี่ยนผ่านที่ดีพอก็จะสามารถเลี่ยงความยากลำบากทางเศรษฐกิจของคนงานเหมือง ในระหว่างเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้