“ร้านสะดวกซื้อ” ร้อนฉ่า “เซเว่นฯ-ลอว์สัน” ผุดเพิ่มหมื่นสาขา

“ร้านสะดวกซื้อ” ร้อนฉ่า “เซเว่นฯ-ลอว์สัน” ผุดเพิ่มหมื่นสาขา
LAWSON108
คอลัมน์ : Market Move

วงการสะดวกซื้อที่แข่งขันดุเดือดอยู่แล้วกำลังจะดุเดือดยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อ 2 ยักษ์ ที่เป็นเบอร์ 1 และ 2 ของวงการ อย่าง “เซเว่นอีเลฟเว่น” และ “ลอว์สัน” ประกาศเป้าเปิดสาขาใหม่รวมกัน 1 หมื่นสาขาทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภายในปีงบฯ 2026 หรืออีกประมาณ 3 ปี หวังชิงสร้างรายได้จากกระแสการเติบโตของชนชั้นกลางในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทดแทนตลาดบ้านเกิดอย่างญี่ปุ่นที่เผชิญปัญหาประชากรหดตัวอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ตามแผนการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อทั้งเซเว่นแอนด์ไอ ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และลอว์สัน ผู้บริหารร้านลอว์สันนั้น สิ้นปี 2026 ทั้ง 2 รายจะมีร้านสะดวกซื้อในเอเชีย-แปซิฟิก เพิ่มจาก 53,000 สาขา เป็น 63,000 สาขา หรือเพิ่มขึ้น 1 หมื่นสาขา ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับแผนเปิดสาขาใหม่ในญี่ปุ่นที่วางแผนไว้เพียงประมาณ 100 สาขาเท่านั้น

ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมา 3 เชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ประกอบด้วย เซเว่นอีเลฟเว่น, ลอว์สัน และแฟมิลี่มาร์ท ต่างมุ่งขยายสาขาในต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา สาขานอกประเทศญี่ปุ่นของทั้ง 3 รายรวมกันมีมากกว่าในประเทศแล้ว จำนวนสาขานี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่จะชิงความได้เปรียบจากคู่แข่งท้องถิ่น เช่นเดียวกับการใช้รูปแบบการบริการ และไลน์อัพสินค้าที่ได้รับการพัฒนาจากการทำธุรกิจในญี่ปุ่น

เซเว่นแอนด์ไอ ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในบรรดา 3 รายนั้น ณ เดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 มีสาขาเซเว่นอีเลฟเว่นในเอเชีย-แปซิฟิก ทุกประเทศประมาณ 46,000 สาขา แต่ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2026 ยักษ์ร้านสะดวกซื้อตั้งเป้าขยายสาขาในภูมิภาคนี้ เพิ่มอีก 3,600 สาขา ตามเป้าการสร้างเครือข่ายร้านสะดวกซื้อในเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่น ไม่น้อยกว่า 50,000 สาขา

ด้านลอว์สันวางแผนการเปิดสาขาในช่วง 3 ปีต่อจากนี้แบบเจาะจงมากกว่า โดยเตรียมเปิดสาขาในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มอีก 6,800 สาขา หากสามารถขยายสาขาได้ตามแผนนี้ จะทำให้ลอว์สันมีสาขาในเอเชีย เพิ่มเป็น 2 เท่า หรือเป็น 13,000 สาขา

สำหรับเงื่อนไขที่เหล่าผู้บริหารเชนร้านสะดวกซื้อใช้ในการตัดสินใจว่า ในขณะนั้นประเทศใดเหมาะที่จะเข้าไปขยายสาขา มาจากข้อมูลตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี (GDP) ต่อหัวว่าเกิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 106,500 บาทแล้วหรือยัง ซึ่งตามข้อมูล World Economic Outlook ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจีดีพีต่อหัวเกินเส้นแบ่ง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว

ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2022 นั้น ฟิลิปปินส์มีจีดีพีต่อหัว 3,623 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 128,616 บาท ส่วนเวียดนามมีจีดีพีต่อหัว 4,086 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับประมาณ 145,053 บาท

ขณะเดียวกันตลาดร้านสะดวกซื้อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตในระดับดับเบิลดิจิต และด้วยสัดส่วนจำนวนร้านสะดวกซื้อต่อประชากรที่ยังอยู่ในระดับประมาณ 50% ของญี่ปุ่น สะท้อนว่ายังมีช่องว่างให้ตลาดสามารถเติบโตได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีช่องว่างให้ขยายสาขาได้ แต่ตลาดร้านสะดวกซื้อในเอเชีย-แปซิฟิก มีการแข่งขันดุเดือดไม่ต่างจากในญี่ปุ่น ทั้งการแข่งขันกันเองระหว่างผู้เล่นจากญี่ปุ่นและการแข่งขันกับผู้เล่นท้องถิ่นในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งลำพังบริษัท Meiyijia Holdings จากมณฑลกวางตุ้ง บริษัทเดียวก็มีเชนร้านสะดวกซื้อในมือมากถึง 30,000 สาขาแล้ว สะท้อนถึงความท้าทายในการรุกเข้าสู่ตลาด

เช่นเดียวกับในประเทศเวียดนามที่ผู้เล่นท้องถิ่นค่อนข้างแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น วินกรุ๊ป (Vingroup) หนึ่งในเครือธุรกิจรายใหญ่ของเวียดนาม ที่เดินหน้าขยายสาขาร้านสะดวกซื้อ “วินมาร์ท พลัส” (Vinmart+) อย่างต่อเนื่อง

รายงานบริษัทวิจัยคิแอนด์มี ระบุว่า เมื่อเมษายน 2561-เมษายน 2562 จำนวนร้านสะดวกซื้อในเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 72% หรือประมาณ 1,300 สาขาภายในปีเดียว ทำให้ขณะนั้นเวียดนามมีร้านสะดวกซื้อรวม 3,100 สาขาทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนจากไทยเข้าไปลงทุนด้านค้าปลีกในเวียดนาม เช่น บีเจซี ที่ซื้อกิจการค้าปลีกร้านสะดวกซื้อ บี สมาร์ท (B’s Mart) ปัจจุบันมีสาขาราว 78 แห่ง เข้ามาไว้ในมือเสริมกับเครือข่ายกระจายสินค้าที่มีอยู่แล้ว

ด้านฟิลิปปินส์ตามข้อมูลของบริษัทวิจัย Statista แม้เมื่อปี 2022 เซเว่นอีเลฟเว่นจะมีสาขามากที่สุดด้วยจำนวน 3323 สาขา แต่ลำดับ 2 และ 3 เป็นผู้เล่นจากเอเชียอย่าง Alfamart จากอินโดนีเซียที่มีสาขา 1,400 สาขา ตามด้วย Uncle John’s เชนร้านสะดวกซื้อสัญชาติฟิลิปปินส์ ซึ่งมีสาขา 443 สาขา และ All Day แบรนด์ท้องถิ่นอีกรายที่มี 80 สาขา ขณะที่แฟมิลี่มาร์ทและลอว์สันมีสาขา 79 สาขา และ 69 สาขาตามลำดับ

สภาพการแข่งขันเข้มข้นนี้เองเป็นหนึ่งในสาเหตุให้แฟมิลี่มาร์ทตัดสินใจถอนตัวจากประเทศไทยเมื่อปีที่แล้วในจังหวะที่สัญญาแฟรนไชส์กับเครือเซ็นทรัลสิ้นสุดลง โดย “เคนสุเกะ โฮโซมิ” ประธานของแฟมิลี่มาร์ท กล่าวว่า แม้จะถอนตัวจากประเทศไทย แต่บริษัทเดินหน้าขยายสาขาในประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย ไต้หวัน ฯลฯ ตามเดิม

จากนี้ไปต้องรอดูว่า 3 ยักษ์ร้านสะดวกซื้อจากญี่ปุ่นจะงัดกลยุทธ์อะไรออกมาเพื่อรับมือกับการแข่งขันในตลาดเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อชิงความได้เปรียบจากเพื่อนร่วมชาติและคู่แข่งท้องถิ่นที่หมายตารายได้จากกลุ่มชนชั้นกลางเอาไว้เช่นเดียวกัน