วาระแห่งชาติเรื่อง การมีบุตร

เด็กแรกเกิด
PHOTO : PIXABAY
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะเด็กเกิดน้อยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ปรากฏมีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 485,085 ราย นับว่าน้อยที่สุดในรอบกว่า 70 ปี นอกจากนี้ จำนวนการเกิดของเด็กเกิดใหม่ยังน้อยกว่าการตาย โดยปี 2564 จำนวนการตาย 563,650 คน และปี 2565 จำนวน 595,965 คน และยังพบว่าอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของผู้หญิง 1 คน ลดลงเหลือเพียง 1.08 ซึ่งต่ำกว่าที่เหมาะสม หรือระดับทดแทนคือ 2.1 และมีแนวโน้มที่ลดลงต่อเนื่อง

ส่งผลให้ประชากรของประเทศลดลงมาตั้งแต่ปี 2564 มีการคาดการณ์กันว่า หากสถานการณ์การเกิดน้อยกว่าการตายยังเป็นแบบนี้ แล้วในอีก 60 ปีข้างหน้าจำนวนประชากรไทยจะลดลงถึงครึ่งหนึ่งจากปัจจุบัน หรือประชากรไทยจะเหลือเพียง 33 ล้านคน โดยประชากรวัยทำงานจะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน เด็กอายุระหว่าง 0-14 ปีจะเหลือเพียง 1 ล้านคน

แต่ประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน ส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุเข้มข้นสมบูรณ์แบบ สภาวการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรมากขึ้น และเกิดความเสี่ยงต่อภาวะการขาดแคลนแรงงาน การจัดเก็บภาษีลดลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติ

รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะประกาศส่งเสริมการมีบุตรให้เป็น “วาระแห่งชาติ” แต่จะต้องเป็นการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพในการพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ โดยตั้งเป้าในปี 2570 ให้มีอัตราการเจริญพันธุ์รวมไม่น้อยกว่า 1.0 และปี 2585 ไม่น้อยกว่า 1.0-1.5 จากปัจจุบันที่รัฐบาลใช้นโยบายเด็กแรกเกิดและเด็กเล็กจนถึงอายุ 3 ปี ด้วยการสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาท ซึ่งนับว่ายังไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ ที่จะต้องมีสวัสดิการที่รองรับและจูงใจการเกิด รวมถึงการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเด็กให้พัฒนาทักษะได้ถึงวัยแรงงาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วย

จึงมีความจำเป็นที่คณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ต้องกำหนดมาตรการหลักที่จะประกอบไปด้วย การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อการมีบุตร ด้วยการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนนโยบาย Family Friendly Workplace ช่วยค่าดูแลและเลี้ยงดูบุตร สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี การเสริมสร้างความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ

โดยให้คุณค่าทุกการเกิดมีความสำคัญ บทบาทชาย-หญิง และความรู้และทัศนคติต่อการสร้างครอบครัวที่มีรูปแบบหลากหลาย และการสนับสนุนให้ผู้ตัดสินใจมีบุตรได้รับการดูแลครบวงจรและมีคุณภาพ ได้แก่ ดูแลรักษาภาวะมีบุตรยาก การส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก รวมถึงให้คำปรึกษาทางเลือกในผู้ที่ท้องไม่พร้อม เพื่อให้ตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อ ได้รับการดูแล

เหล่านี้จึงจะเรียกว่าเป็นการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่การส่งเสริมที่เน้นปริมาณ ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาในภายหลัง