Generative AI กับการพัฒนากฎหมาย (จบ)

AI
คอลัมน์ : ชวนคิดชวนคุย
ผู้เขียน : ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย
เจ้าของเพจ Narun on Fintech Law

3.Gen AI เบื้องต้น

Gen AI เป็นวิวัฒนาการอีกก้าวของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างข้อมูลหรือเนื้อหาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือวิดีโอจากการใช้กรอบการเรียนรู้ที่สามารถวิเคราะห์กลุ่มก้อนข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายมากกว่าแค่ฐานข้อมูลเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อสังเคราะห์ออกมาเป็นข้อมูลชุดใหม่

โดยข้อมูลใหม่นั้นอาจถูกนำเสนอได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อความทั้งแบบสั้นและยาว เสียง ภาพ และฐานข้อมูลจำลอง ปัจจุบันการใช้ Gen AI เพื่อนำเสนอข้อมูลใหม่ในรูปแบบของข้อความน่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้ที่แพร่หลายที่สุด เพราะนอกจากจะสามารถสร้างข้อความใหม่ได้จากรูปแบบของกลุ่มก้อนข้อความและข้อมูลที่เป็นวัตถุดิบของการเรียนรู้แล้ว (Pattern Creation) ผู้ให้บริการ Gen AI ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT Gemini หรือ Claude ยังมีการนำกรอบการเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อสร้างข้อความคำตอบที่มีลักษณะการใช้คำและรูปประโยคที่เป็นธรรมชาติเสมือนว่ามนุษย์เป็นผู้เขียนข้อความนั้นเอง (Large Language Model-LLM) มาใช้อีกด้วย

ผู้ใช้งานมีหน้าที่เพียงตั้งคำถาม (Prompting) กับระบบเพื่อให้ระบบเสนอคำตอบที่ต้องการ และยังสามารถขอให้ระบบปรับแก้ไขคำตอบให้ตอบสนองกับเงื่อนไขของคำถามที่ซับซ้อนหรือสะท้อนบริบทที่ต้องการได้ด้วย เช่น สามารถ “Prompt” ให้ระบบยกร่างบทความเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเทศไทยความยาวอย่างน้อย 2 หน้ากระดาษ โดยให้ยกตัวอย่างสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญมาอย่างน้อย 5 แห่ง

และเมื่อระบบเสนอคำตอบมาแล้ว ก็สามารถ “Prompt” ต่อไปได้ว่า ให้แก้ไขบทความเพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้อ่านที่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ระบบก็จะทำการแก้ไขโดยสร้างข้อมูลใหม่ที่เข้ากับบริบทของคำถามต่อเนื่องที่ได้รับด้วยภาษาที่สละสลวยเป็นธรรมชาติราวกับว่ามีมนุษย์เป็นผู้เขียนบทความนั้นเอง

AI

4.ประสบการณ์ทดลองใช้ Gen AI ในวงการกฎหมาย

วงการกฎหมาย มีการนำเทคโนโลยี Gen AI มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการยกร่างกฎหมาย สัญญา และเอกสารทางกฎหมายอื่น ทั้งยังสามารถใช้ในการสนับสนุนงานที่เกี่ยวข้องได้ไม่ว่าจะเป็นการช่วยสรุปการประชุมหรือสรุปเอกสาร ให้อยู่ในรูปแบบข้อความที่กระชับเข้าใจง่าย หรือการช่วยนักกฎหมายสืบค้นข้อมูลกฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ในต่างประเทศ เริ่มนำ Gen AI มาใช้ในงานพัฒนากฎหมายบ้างแล้ว มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากสองประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ และบราซิล ในประเทศสิงคโปร์ กระทรวงกฎหมาย (Ministry of Law) ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาการสื่อสารสารสนเทศ จัดทำแผนพัฒนาด้านดิจิทัลให้กับนักกฎหมายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนให้พัฒนาความสามารถและองค์ความรู้ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ในประเทศบราซิล สำนักงานอัยการสูงสุดของเซาเปาลู (AGU) นำ GPT-4 มาช่วยอัยการในการอ่านเอกสารทางคดีที่ค้างอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลมากกว่า 20 ล้านคดี

ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมานี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาของไทยได้ร่วมมือกับ Microsoft เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สำนักงานทั้งที่เป็นนักกฎหมายกฤษฎีกาและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนได้ทดลองนำ Copilot ซึ่งเป็น Gen AI ที่พัฒนาบนพื้นฐานของ ChatGPT-4 มาใช้ในงานของสำนักงานใน 3 โจทย์การทำงาน ดังนี้

โจทย์แรก คือช่วยสรุปข้อมูลที่มีความซับซ้อน พบว่า เทคโนโลยี AI ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการสรุปข้อมูลกฎหมายที่มีความยาวให้เป็นข้อความสั้นทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีการทดลองให้สรุปหลักการและเหตุผลของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เปรียบเทียบกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป และให้แสดงผลการสรุปเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

โจทย์ที่สอง สังเคราะห์ข้อมูลกฎหมายเปรียบเทียบ โดยทดลองให้ Copilot หาข้อมูลกฎหมายเปรียบเทียบพร้อมแหล่งข้อมูลอ้างอิงเพื่อใช้ประกอบการยกร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งระบบสามารถเลือกข้อมูลประกอบจากสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพยุโรป ซึ่งมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มดิจิทัลพร้อมกับรายชื่อแหล่งข้อมูลอ้างอิงให้ได้

โจทย์ที่สาม ทดลองนำข้อมูลกฎหมายมาแสดงผลในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ซึ่ง Copilot สามารถนำกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาจัดเรียงและนำเสนอในรูปแบบ Powerpoint โดยแบ่งการนำเสนอสอดคล้องกับการแบ่งหมวดในกฎหมายดังกล่าว

การทดลองทั้งสามโจทย์ถือว่า Gen AI มีศักยภาพที่จะช่วยลดงานเอกสารและงานธุรการที่ใช้เวลา เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้เวลาที่จำกัดในการพัฒนาเนื้อหาของกฎหมาย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นขั้นตอนต่อไปสำนักงานจะขยายผลการทดลองใช้ Gen AI ในกระบวนการทำงานบางส่วน โดยเฉพาะส่วนงานพัฒนากฎหมาย ที่ต้องใช้การค้นคว้าและเปรียบเทียบกฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของการทำงานเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องดำเนินไปด้วยความรอบคอบและเข้าใจถึงผลดีและผลกระทบด้านอื่น ๆ ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้สามารถจัดทำร่างกฎหมายและให้ความเห็นทางกฎหมายที่แก้ไขปัญหาของประชาชน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคเอกชน และยังประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศ