อุดหนุนราคาน้ำมันอย่างมีขอบเขต

บทบรรณาธิการ

แม้ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกจะลดความร้อนแรงลงเหลือ 73.39 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่เคยพุ่งทะยานขึ้นไปถึง 77.05 เหรียญ/บาร์เรลในกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่นักวิเคราะห์ด้านพลังงานก็ยังคงทำนายว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงเคลื่อนไหวในเกณฑ์สูง หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บริษัทไทยออยล์ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส กับน้ำมันดิบเบรนต์ จะเคลื่อนไหวระหว่าง 65-70 เหรียญ และ 74-79 เหรียญ/บาร์เรล ตามลำดับ

ราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในเกณฑ์สูงย่อมส่งผลกระทบกับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตและขนส่งสินค้า หรือพูดง่าย ๆ ว่า ยิ่งน้ำมันแพงขึ้นเท่าไร สินค้าก็จะต้องปรับขึ้นราคาตามไปเท่านั้น

ท่ามกลางเสียงโจมตีรัฐบาลที่ปล่อยให้ราคาน้ำมันขยับขึ้นสูง กระทรวงพลังงานในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานของประเทศ ได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาน้ำมันทันที

ด้วยการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินกว่า 30 บาท/ลิตร โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนในระหว่างที่รอการผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ (B20) ที่มีราคาขายต่ำกว่าน้ำมันดีเซลเกรดปกติถึง 3 บาท/ลิตร

ทว่าหากในช่วงนี้น้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นกว่า 80 เหรียญ/บาร์เรล กระทรวงพลังงานก็จะให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาอุดหนุนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยกองทุนจะจ่ายเงินลดภาระให้ครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของราคาน้ำมันขายปลีกที่จะปรับเพิ่มขึ้น ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของราคาที่เพิ่มขึ้นหรืออีก 50% ที่เหลือประชาชนจะต้องเป็นผู้รับภาระเอง

Advertisment

พร้อมทั้งยังให้ข้อมูลอีกด้วยว่า กรณีที่ราคาน้ำมันดิบ (เบรนต์) ขยับสูงขึ้นไปอีกถึง 90 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งหมายถึงราคาน้ำมันดีเซลอ้างอิงตลาดอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 105 เหรียญ/บาร์เรล หรือทอนกลับมาเป็นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลสูงทะลุ 30 บาท/ลิตรนั้น เงินคงเหลือของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 30,000 ล้านบาท จะรับภาระอุดหนุนราคาน้ำมันภายในประเทศ (ตามสูตร

50/50) ได้ไม่เกิน 10 เดือนเท่านั้น

เท่ากับว่า มาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาน้ำมันครั้งนี้ “แตกต่าง” ไปจากครั้งก่อน ๆ จากการส่งสัญญาณชัดเจนจากกระทรวงพลังงานที่ว่า จะอุดหนุนราคาน้ำมันอย่างมี “ขอบเขต” นั้นคือ อุดหนุนได้ไม่เกินไปกว่าเงินกองทุนน้ำมันฯที่คงเหลืออยู่ 30,000 ล้านบาท และการอุดหนุนครั้งนี้รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้อุดหนุนแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมันต้องรับภาระอีกครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของราคาขายปลีกที่ปรับขึ้นด้วย โดยเชื่อกันว่า มาตรการนี้จะนำมาซึ่งการประหยัดการใช้น้ำมันในภาวะวิกฤตได้ในที่สุด