Journey ของ Auka แรงผลักถึงฟินเทคไทย โดย วิไล อักขระสมชีพ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย วิไล อักขระสมชีพ

นับเป็นโอกาสดีเมื่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) นำทีมโดย นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ ธอส. และ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ พร้อมคณะผู้บริหาร ธอส. ได้พาคณะสื่อมวลชนเดินทางไปประเทศนอร์เวย์ เพื่อดูงานบริษัท Auka ซึ่งเป็นฟินเทค สตาร์ตอัพ สัญชาตินอร์เวย์ ที่ติดอันดับ 100 ผู้ทรงอิทธิพลด้านฟินเทคของยุโรป และล่าสุดปีที่แล้วก็คว้ารางวัล European Mobile Payment Platform of the Year 2017


Auka เป็นสตาร์ตอัพที่มาแรงติดแถวหน้าในกลุ่มประเทศนอร์ดิก โดยการก่อตั้งของ มร.แดเนียล โดเดอเลน ซีอีโอ Auka ด้วยประสบการณ์ด้านไอที โฆษณาและการชำระเงินบนมือถือมากกว่า 20 ปี และยังเป็นคณะที่ปรึกษาของ Google Cloud และเป็นคนแรกที่สร้างเทคโนโลยีการชำระเงินบนมือถือในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย

เขาเริ่มปิ๊งไอเดียตั้งแต่ปี 2006 ถึงขนาดเดินเข้าไปหาธนาคารที่จะสนับสนุนการพัฒนาระบบชำระเงินบนมือถือนี้แต่แบงก์เหล่านั้นไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ เขาจึงตัดสินใจลุยเองเพราะได้ลงทุนไปเยอะแล้ว และเป็นคนแรกที่ไปจดลิขสิทธิ์ “mCash” ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในเวลา 2 ปีครึ่ง เพราะมียอดผู้ใช้บริการชำระเงินบนมือถือในนอร์เวย์ และกลุ่มประเทศนอร์ดิก พุ่งพรวดเมื่อตลาดบูมขึ้นมา เหล่าบรรดาแบงก์ยุโรปก็หันกลับมาหาเขา ทำให้เขาสามารถขายโปรดักต์ mCash นี้ได้ในราคาที่สูงทีเดียว ซึ่งต่อมาก็พัฒนาเป็น “Vipps” 

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ธุรกิจธนาคารต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก เมื่อนำระเบียบใหม่ PSD2 (payment services direction) มาใช้ปฏิบัติ ทาง Auka จึงได้เสนอช่องทางใหม่ในการเรียกลูกค้า และสร้างรายได้ใหม่ ด้วยแพลตฟอร์มการชำระเงินบนมือถือด้วยแอปพลิเคชั่นแบบ “white label” (ไม่มีการแบ่งแยกธนาคาร) ซึ่งออกให้โดยธนาคารในรูปแบบ SaaS ทำให้ไม่ต้องกังวลกับปัญหาด้านไอทีกันต่อไป


ปัจจุบันมีธนาคารในยุโรปราว 100 แห่ง มาใช้บริการชำระเงินบนมือถือผ่าน white label นี้ และเนื่องจาก Auka มีแพลตฟอร์มเทคโนโลยีตามระเบียบ PSD2 ทำให้ธนาคารสามารถออกผลิตภัณฑ์การชำระเงินบนมือถือแบบ white label แก่ “ลูกค้าบุคคลกับลูกค้าธุรกิจ” ได้ด้วย ขณะที่ Auka มีโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่เชื่อมต่อกับธนาคารเข้ากับผู้ค้าและผู้บริโภคผ่าน Google Cloud Platform

นอกจากนี้ยังเป็นบริษัทแรกที่เปิดตัว mobile wallet (กระเป๋าสตางค์บนมือถือ) ในนอร์เวย์ สำหรับ Auka ในปัจจุบันมีพนักงานเพียง 39 คน ขณะที่มีโฮลดิ้งถึง 17 แห่ง ผู้ค้า 9,000 ราย และผู้บริโภค 1 ล้านราย


แดเนียลยังให้มุมมองต่อบริบทโลกบริการทางการเงินที่กำลังเปลี่ยนอีกระลอกของยุโรปว่า ในอียู (สหภาพยุโรป) กำลังจะออกกฎหมายใหม่ PSD2 มาใช้ ซึ่งถ้าสำเร็จก็จะทำให้เกิดแอปพลิเคชั่นยักษ์ใหญ่ในวงการที่ไม่ใช่ธนาคาร อย่างเช่น Paypal Amazon Facebook Apple เป็นต้น เข้ามาให้ทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ก็หมายถึงว่าในอนาคต สถาบันการเงินทั้งหมดจะมีคู่แข่งที่สามารถเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนได้มากกว่าธนาคาร เพราะคนส่วนใหญ่ใช้แอปพลิเคชั่นกันเกือบตลอดเวลา

“ซึ่งในเดือนกันยายน 2019 สื่อโซเชียลเหล่านี้จะเปิดเสรีให้ผู้ใช้สามารถเลือกเปิดเผยข้อมูลทางการเงินในแอปพลิเคชั่นได้ ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย และเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสของสถาบันการเงินที่จะต้องเร่งปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้

โดยธนาคารเหล่านี้ก็ต้องหาทางทำอย่างไร เพื่อทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินต่อไปอยู่ได้ โดยไม่ถูกแอปพลิเคชั่นเหล่านี้เบียดตัวเองออกจากตลาด จึงอาจต้องยอมเปิดพื้นที่ให้แอปยักษ์ใหญ่ เหล่านี้เข้ามาพัฒนาบริการร่วมกัน เพื่อความอยู่รอดของธนาคารต่อไป” แดเนียลฉายภาพที่ต้องรับมือกัน

สำหรับประเทศไทย เขากล่าวว่า ผลสำรวจของ Auka พบว่า คนไทยยังใช้เงินสดกันถึง 75% ขณะที่รัฐบาลกำลังผลักดันเรื่องดิจิทัล และหลาย ๆ หน่วยงาน องค์กรก็หันมาใช้การทำธุรกรรมบนอิเล็กทรอนิกส์กันแทนเงินสดกันบ้างแล้ว ดังนั้นในระยะ 2 ปีข้างหน้า น่าจะเห็นการใช้เงินสดลดลงราว 20% ได้ นอกจากนี้ประเทศไทยเน้นสร้างรายได้จากภาคท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่ง คือ จีน ที่มีการใช้อาลีเพย์กันจำนวนมาก จึงเชื่อว่าตราบใดที่ประเทศไทยยังเป็นสังคมใช้เงินสดอยู่ โอกาสการให้บริการธุรกรรมทางการเงินบนอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวได้อีกสูงมาก

จากเรื่องราวของ Auka ฟินเทคสตาร์ตอัพระดับโลกที่ก้าวไปถึงจุดสำเร็จ ก็หวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ฟินเทคสตาร์ตอัพของไทยที่จะมุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรค และเดินหน้าสู่ความสำเร็จได้ เพราะไทยยังมีช่องว่างให้เข้ามาอยู่มาก