อนาคตคนไทย “แก่-ก่อน-รวย”

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

 

ประเทศไทยถูกยกให้เป็น “ผู้นำ” ในฐานะที่จะเป็นชาติแรกของอาเซียน ในการเปลี่ยนผ่านจาก “สังคมสูงวัย” (aging society) เข้าสู่ “สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์” (aged society) ในเวลา 20 ปี

ด้วยประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในอาเซียน ขณะเดียวกัน ประชากรวัยแรงงานก็ลดลงเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ โดยสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ประชากรวัยแรงงานของไทยจะเริ่มลดลงในราวปี 2018

ทั้งพบว่าปัจจุบันมีคนไทยราว 3 แสนคน ออกจากงานตั้งแต่อายุ 45 ปี จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันเราพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปัญหาที่น่ากังวล คือ “รายได้ต่อหัว” ของคนไทยยังต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย

โครงการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่อง “สังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย” จึงระบุว่า แรงงานไทยมีแนวโน้ม “แก่-ก่อน-รวย” สูง เพราะคนไทยจำนวนมากยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องออมเพื่อวัยเกษียณ และพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของคนไทยอายุ 60 ปี ยังมีภาระหนี้สิน ไม่ต้องพูดถึง “เงินออม”

ขณะที่การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์” มีนัยสำคัญต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นด้านภาระการคลัง ตลอดจนความมั่นคงทางการเงินและคุณภาพชีวิตของสังคมสูงวัย

ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือความท้าทายต่าง ๆ ที่กำลังเข้ามา จากการที่ประชากรสูงวัยไม่มีงานทำ หรือไม่ทำงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินออม มีแต่หนี้สิน

แม้ว่าปัจจุบันจะมีมาตรการต่าง ๆ อาทิ ลดภาษีนิติบุคคลแก่บริษัทที่จ้างงานผู้สูงอายุ การให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่มาตรการเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ และไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด

เวลา 20 ปีดูเหมือนนาน แต่การสร้างรากฐานเพื่อแก้ปัญหานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โครงการศึกษาของ ธปท.ได้ถอดบทเรียนแนวทางการปรับตัวของสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบของสังคมสูงวัยในภูมิภาคที่มีบริบท

ใกล้เคียงกับประเทศไทย ระบุว่าการดำเนินนโยบายส่วนใหญ่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีโอกาสทำงานมากขึ้น และนานขึ้น ทั้งการเพิ่มอายุเกษียณ เช่น ที่สิงคโปร์เพิ่มจาก 65 ปี เป็น 67 ปี ญี่ปุ่นเพิ่มจาก 62 ปี เป็น 65 ปี รวมทั้งการสร้างสภาวะแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อสังคมสูงวัย พร้อมกับการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เกษียณอายุหรือผู้สูงวัยทำงานมากขึ้นควบคู่กับการเพิ่มทักษะ (upskill) และเสริมทักษะใหม่ ๆ (reskill) ให้กับแรงงานตลอดช่วงอายุ

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการพูดถึงประเด็นเหล่านี้ แต่ก็ยังไม่ได้ส่งเสริมกันอย่างจริงจัง และแม้ว่าอายุเกษียณของคนไทยอยู่ที่ 60 ปี แต่ก็พบว่ามีจำนวนมากออกจากงานตั้งแต่อายุ 45 ปี ด้วยปัจจัยต่าง ๆ

ขณะที่ภาคธุรกิจประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร ควบคู่กับที่คนรุ่นใหม่ไม่นิยมเป็นลูกจ้างหรือพนักงานประจำ เน้นทำอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ อีกด้านแรงงานที่จบการศึกษาออกมากลับไม่มีทักษะตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ

ปัญหาขาดแคลนบุคลากรเกิดขึ้นทุกวงการ แม้กระทั่งบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ยักษ์ค้าปลีกเจ้าของศูนย์การค้าสยามพารากอน ที่ล่าสุดฝ่ายเอชอาร์ใช้วิธีเชิญชวนพนักงานในบริษัทช่วย “เพื่อนแนะนำเพื่อน (ร่วมงาน)” โดยให้ค่าแนะนำตอบแทน 1,500 บาท ตั้งแต่ตำแหน่งแคชเชียร์ พนักงานขาย เจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ และเจ้าหน้าที่วิศวกรรม เพื่อเข้าทำงานที่ “ศูนย์การค้าไอคอนสยาม” ที่เตรียมจะเปิดช่วงปลายปีนี้

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงปัญหาบุคลากร ที่นับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้นในยุคสังคมสูงวัย

อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญของการเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” นอกจากภาครัฐที่ต้องเร่งดำเนินนโยบายรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันทุกคนก็ต้องเตรียมพร้อมตัวเอง

นอกจากดูแลสุขภาพกายและใจแล้ว ที่ขาดไม่ได้คือ การสร้างวินัยทางการเงิน เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องกังวลว่าจะ “แก่ก่อนรวย”