เศรษฐกิจโตด้วย “หนี้”

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

 

ช่วงปีที่ผ่านมา เกิดคำถามจากคนไทยว่า ทำไมในขณะที่รัฐบาลออกมาประกาศว่าเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตหรือขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ทำไมสามัญชนคนไทยจำนวนมากกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น เพราะรายรับไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน หรือรายได้จากการค้าขายต่าง ๆ ไม่ได้เพิ่มขึ้น

เรื่องนี้ไม่ใช่รู้สึกกันไปเอง เพราะ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันคือ “เศรษฐกิจมีการเติบโต แต่รายได้ของประชาชนไม่เพิ่มขึ้น”

ข้อมูลย้อนหลังปี 2556-2561 ยืนยันว่าดัชนีเศรษฐกิจยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง แต่รายได้ประชากรเติบโตต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจมาตลอด และเมื่อหักเงินเฟ้อ “รายได้แทบไม่มีการเติบโต” โดยเฉพาะรายได้ประชากรในภาคเกษตร

“เมื่อรายได้ไม่เพิ่ม ขณะที่มีความต้องการบริโภคจึงต้องกู้ ก่อหนี้ ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูง และแนวโน้มก็ไม่ลดลง เพราะประชาชนก่อหนี้เพื่อการบริโภคมากขึ้น ไม่ว่าหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้านขยายตัวต่อเนื่อง”

โดยปีที่ผ่านมาสินเชื่อรถยนต์มีอัตราเติบโตสูงสุดของสินเชื่ออุปโภคบริโภค 12.6% สูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาจึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “เศรษฐกิจที่เติบโตด้วยหนี้”

ข้อมูลล่าสุดจาก ธปท.ระบุว่าหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ 12.56 ล้านล้านบาท คิดเป็น 77.8% ของจีดีพี ขยับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/61 ซึ่งอยู่ที่ 12.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 77.5% ของจีดีพี ขณะที่ไตรมาส 1 อยู่ที่ 12.17 ล้านล้านบาท

“หนี้ครัวเรือน” ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ถดถอย สัญญาณหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น เป็นสิ่งที่ ธปท.กังวล หลังจากมีมาตรการคุม LTV (เงินดาวน์) สินเชื่อบ้าน ปีนี้ก็มีมาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงินต่าง ๆ

นอกจาก “หนี้ครัวเรือน” ดร.เศรษฐพุฒิยังส่งสัญญาณเตือนถึงความกังวลต่อสถานการณ์ “หนี้สาธารณะ” ของประเทศไทย โดยฝากถึงรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องให้ความสำคัญกับ “วินัยการคลัง” ไม่ก่อหนี้แบบที่ไม่คุ้มค่า

แม้ว่าหนี้สาธารณะของไทยยังต่ำกว่ากรอบวินัยการคลังคือไม่เกิน 60% ของจีดีพี แต่ ดร.เศรษฐพุฒิบอกว่าชะล่าใจไม่ได้ เพราะตัวเลขหนี้สาธารณะดังกล่าวไม่ได้รวมภาระหนี้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะหนี้รัฐวิสาหกิจที่ยังมีปัญหาขาดทุนอยู่อีกหลายแห่ง

และที่น่าเป็นห่วงมากคือ “กองทุนประกันสังคม” เพราะโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้กองทุนต้องจ่ายเงินให้กับผู้เกษียณอายุสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่คนทำงานที่จ่ายสมทบกองทุนลดน้อยลง ทำให้อนาคตกองทุนประกันสังคมเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาไม่มีเงินพอจ่าย ที่จะส่งผลต่อฐานะการคลังของประเทศ

นอกจากนี้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศส่วนใหญ่ใช้งบประมาณจำนวนมากกับนโยบายรัฐสวัสดิการ และการหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็ยัง

เน้นนโยบายรัฐสวัสดิการที่จะจ่ายให้มากกว่าเพื่อสร้างคะแนนนิยม

ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ณ พ.ย. 2561 ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ 6.81 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.82% ต่อจีดีพี และประเมินว่าในปี 2562 จะปรับเพิ่มเป็น 43.3% ต่อจีดีพี

ขณะที่ภาพการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศอยู่ในระดับต่ำ แม้หลายปีที่ผ่านมา

อาจเห็นการโหมโรงเรื่องลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐมากมาย แต่เอาเข้าจริงจนถึงวันนี้การลงทุนภาครัฐก็ยังอยู่ในระดับต่ำ

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวในวันนี้

มาจาก “ภาระหนี้” ที่เพิ่มขึ้นทั้ง “หนี้ครัวเรือน” และ “หนี้สาธารณะ”

และนี่ก็คือปัญหาที่กำลังก่อตัวและทำให้เป็นห่วงว่าอนาคตเศรษฐกิจไทยจะ “ติดกับดักหนี้”