ตั้งการ์ดสูง ๆ รับมือ ศก.

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

 

ส่งสัญญาณชัดเจนว่าหลังหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเป็นต้องเฟ้นหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันอีกรอบ

ก่อนหน้านี้มีเสียงเป็นห่วงจากทีมเศรษฐกิจเป็นระยะ ๆ ถึงภาวะจับจ่ายที่ชะลอตัว เนื่องจากกังวลกับเศรษฐกิจในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง

ในแง่เศรษฐกิจโลกเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ประมาทไม่ได้

โดยเฉพาะเสียงย้ำเตือนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เพิ่งประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก จากเดิมปีนี้ที่คิดว่าจะอยู่แถว ๆ 3.5% ลดลงเหลือ 3.3% อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟมองว่าปีหน้าการขยายตัวจะปรับเพิ่มเป็น 3.6% เท่ากับปี 2561 ที่ผ่านมา

ไอเอ็มเอฟระบุว่า ความกังวลเนื่องจากสงครามการค้าส่งผลถึงการลงทุนในอนาคต ห่วงโซ่อุปทาน ประสิทธิภาพการผลิต และการทำกำไรของภาคเอกชน ทั้งหมดนี้กระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

หลัก ๆ คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐที่ตีรวนประเทศอื่น ๆ และการตั้งกำแพงภาษีไปทั่ว ทำให้ทั้งต้นทุนการผลิตสินค้า และราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้คนค้า ๆ ขาย ๆ บ้านเราเห็นสัญญาณที่ว่า

ทุกครั้งที่เศรษฐกิจโลกเริ่มจะแกว่ง ๆ เงินในกระเป๋าผู้ซื้อลดลง ย่อมส่งผลโดยตรงถึงออร์เดอร์สั่งซื้อสินค้าอย่างหลีกลี่ยงไม่ได้

ในเมื่อประเทศของเราพึ่งพาการส่งออกกว่าครึ่งค่อน เพราะฉะนั้น เราเดือดร้อนทุกครั้งที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา

ล่าสุดภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกโดยตรง ปรับเป้าหมายส่งออกสำหรับปี 2562 ใหม่อีกครั้ง หลังจากพบว่าการส่งออกในไตรมาส 2 อาจไม่มีอัตราการเติบโตใด ๆ จากที่เคยตั้งเป้าไว้ทั้งปี น่าจะเติบโตได้ 5% หดตัวเหลือทั้งปีโตแค่ 3%

หายไปถึง 2%

ภาคธุรกิจที่ว่านี้ประกอบด้วยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งมีสมาชิกคือบรรดายักษ์ใหญ่ในแวดวงธุรกิจของไทย

สาเหตุอย่างที่เรารู้ ๆ กันดี ยิ่งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยืดเยื้อเท่าไหร่ ไทยเราก็ยิ่งได้รับผลกระทบเท่านั้น

เพราะตลาดส่งออกสำคัญโดยเฉพาะวัตถุดิบของไทยก็คือ จีน สงครามการค้าที่ว่านี้มีโอกาสขยายวงสู่ประเทศในกลุ่มอียู

รวมไปถึงการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่คาราคาซังไม่ยอมจบ เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่ง

ผู้ส่งออกไทยยังเหน็ดเหนื่อยจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้โอกาสในการแข่งขันสินค้าไทยในตลาดโลกทำได้ยากขึ้น

แต่ละเรื่องล้วนเหนือการควบคุม

ที่น่าปวดหัวเป็นที่สุดสำหรับคนค้าขายในยุคนี้ยังมาจากการเมืองบ้านเราอยู่ในภาวะสุญญากาศ เป็นรอยต่อระหว่างรัฐบาลเก่ากับรัฐบาลใหม่ ไม่มีใครชี้ชัดได้ว่าฝ่ายไหนจะครองเสียงข้างมากในสภา และใครกันที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

“ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการส่งออก การเจรจาทางการค้าต่าง ๆ เกิดความล่าช้า” คือเสียงของผู้เกี่ยวข้องจากการส่งออก

ปัญหาคือ ไม่มีใครรู้ด้วยว่าอีกนานแค่ไหนกว่าที่รัฐบาลใหม่จะได้เข้ามาแสดงฝีมือ

แน่นอนว่าผลสืบเนื่องจากเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาที่หมักหมมในประเทศไทยเอง ย่อมไม่ใช่ข่าวที่ดีนักสำหรับคนที่จะเข้ามารับช่วงเป็นรัฐบาล

ไม่รวมถึงว่าโอกาสในการได้รัฐบาลใหม่ที่เสียงปริ่มน้ำ และมีผลถึงเสถียรภาพทางการเมืองมีอยู่สูงมาก

สำหรับภาคธุรกิจ นาทีนี้ตั้งการ์ดให้รัดกุมเข้าไว้จึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!