คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์
ขณะที่หน่วยงานธุรกิจต่าง ๆ กำลังพูดถึงกระแส “digital disruption” ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกธุรกิจอย่างรุนแรงและรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แต่อีกความท้าทายที่กำลังเข้ามาดิสรัปต์ทุกวงการก็คือ population disruption
ในยุคที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร อัตราเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนประชากรของประเทศทรงตัวอยู่ที่ไม่เกิน 70 ล้านคน ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 68.30 ล้านคน
แต่สัดส่วนของประชากรสูงวัยก็จะเพิ่มขึ้น ๆ และวัยแรงงานสัดส่วนก็จะลดลงเรื่อย ๆ
จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปัจจุบันเด็กเกิดใหม่เหลือเพียงปีละ 6-7 แสนคน จากที่เคยมีเด็กเกิดใหม่สูงสุดที่ประมาณ 1.22 ล้านคน ในปี 2514
จากอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงประมาณ 50% และยังลดลงต่อเนื่อง ด่านแรกของผลกระทบในเวลานี้ก็คือ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งนอกจากกำลังเผชิญความท้าทายจากเทรนด์ธุรกิจที่เปลี่ยนไป จาก “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” ทำให้ต้องมีการยกเครื่องหลักสูตร หรือสาขาวิชาใหม่ ที่ตอบโจทย์กับธุรกิจยุคอนาคต อีกด้านก็ต้องแบกปัญหาเด็กที่เข้ามาในระบบการศึกษาลดลง จนทำให้มหาวิทยาลัยต้องขยายไปรับนักศึกษาจากเพื่อนบ้านอย่าง CLMV รวมถึงไปดึงนักศึกษาจีนมาชดเชย
ปัญหาที่ตามมาก็คือ ประชากร “วัยทำงาน” ที่ลดลง
ที่สำคัญ มี “คำเตือน” ว่า ประชากร “วัยแรงงาน” ของไทยมีแนวโน้มลดลงรวดเร็วมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
โดยในปี 2560 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.1 ของประชากร
สำนักงานสถิติแห่งชาติคาดว่าภายในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” คือ มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากร และทำให้เกิดความผันผวนของสัดส่วนประชากร “ผู้สูงอายุ : วัยทำงาน” มาอยู่ที่ 1 ต่อ 4 ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งนี่เป็นโจทย์ของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกยุคปัจจุบัน ทำให้เกิดนโยบายเพิ่มอายุเกษียณการทำงาน รวมถึงการจ้างงานผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ซ่อนอยู่จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปก็คือ generation gap
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจเรื่องการศึกษาและปัญหาดังกล่าว ได้บรรยายให้ห้องเรียน วพน.13 เล่าถึงความท้าทายของ population disruption ที่กำลังเกิดขึ้น จากปัญหา genera-tion gap สูงมาก ของคนที่เกิดมาในยุคของเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการ “ปะทะ” ระหว่างเจเนอเรชั่น
เรียกว่าแต่ละชนชั้น (อายุ) จะมีความคิดเห็นมุมมองที่แตกต่างกันสูงมาก
“เด็กที่เกิดมาในยุคดิจิทัล ทุกอย่างอยู่บนมือถือ อยู่บนอินเทอร์เน็ต เชื่อมั่นในตัวเองสูง คือว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง”
ดร.ไพรินทร์อธิบายว่า เด็กที่เกิดมาพร้อมกับสมาร์ทโฟน กูเกิล เฟซบุ๊ก หลายคนอาจมองว่าช่วยให้เด็กมีโลกกว้าง แต่บนโซเชียลมีเดียซึ่งใช้ “เอไอ” เป็นผู้เลือกสรร และนำเสนอเฉพาะสิ่งที่คิดว่าเราอยากรู้ อยากได้ โดยไม่นำเสนอสิ่งอื่น ๆ เรียกว่าถ้าใครชอบรถก็จะมีแต่ข้อมูลเรื่องรถมาให้ ดังนั้น โลกออนไลน์ แทนที่จะทำให้มนุษย์โลกกว้าง แต่กลับทำให้มนุษย์โลกแคบมากขึ้น เพราะเสพและบริโภคตามที่เอไอเลือกมาให้ อยู่ในโลกของตัวเอง แต่อาจรู้ลึกในสิ่งที่สนใจ
นอกจากนี้ ดร.ไพรินทร์สรุปว่า population disruption กำลังเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ รวมถึงทิศทางการเมือง และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิด “ปรากฏการณ์อนาคตใหม่”
นี่จึงเป็นโจทย์ที่ผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารธุรกิจ หรือองค์กรต่าง ๆ ต้องทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อที่จะหาวิธีรับมือกับ population disruption ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น
หลายคนพูดว่า…โลกข้างหน้า คือ “โลกคนรุ่นใหม่”
แต่ขณะเดียวกัน ประเทศก็กำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” หรือ “โลกคนแก่”
เราจะทำอย่างไรให้ “โลกสองใบ” ของคนที่มีความแตกต่างกันสูงมาก เดินไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ