แก้ล็อกหนี้ปลุกการจับจ่าย

ดัชนีชี้วัดด้านเศรษฐกิจที่หลายหน่วยงานมองในทิศทางบวก เหมือนเป็นเครื่องยืนยันว่าเศรษฐกิจในภาพรวมที่ชะลอตัวกลับมาฟื้น แม้ปัจจัยแวดล้อมยังค่อนข้างอ่อนไหว ต้องตั้งการ์ดรับความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ทั้งภายในและนอกประเทศ

หลังกระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขส่งออกสินค้าไทยช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ ขยายตัว 8.2% พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปี พร้อมปรับเป้าส่งออกทั้งปีเพิ่มจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.5-5% เป็น 5-6.5% ขณะที่สภาพัฒน์ฯปรับเป้าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จาก 3.5% เป็น 3.7% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลัง ก็เตรียมปรับแนวโน้มการคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีในทิศทางที่เป็นบวกเพิ่มเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานผลการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ ซึ่งปรากฏว่ารายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ลดลงแบบสวนทาง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 กรมสรรพากรจัดเก็บ VAT ได้ต่ำกว่าเป้าถึง 4.1 หมื่นล้านบาท เท่ากับการบริโภคยังหดตัวในระดับที่น่าห่วง

แม้เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ยอดจัดเก็บ VAT ปีนี้จะสูงกว่า แต่ชี้ให้เห็นว่าการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ชะลอตัวมานานยังไม่ฟื้น อานิสงส์จากการขยายตัวของภาคการส่งออก และการลงทุนของภาคเอกชนไม่ถึงมือคนส่วนใหญ่

หลากหลายมาตรการที่รัฐบาลทุ่มงบฯสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร รวมทั้งรากหญ้า นอกจากออกฤทธิ์ช้าแล้วยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น หลายปัญหาที่สะสมยังบั่นทอนกำลังซื้อของคนระดับกลาง-ล่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงเกือบ 80% ของ GDP เพราะพิจารณาในแง่ตัวเลขแม้หนี้สินภาคครัวเรือนจะลดลงติดต่อกันหลายไตรมาส แต่ยังเป็นภาระหนักที่ต้องแบกรับ บวกกับพืชผลการเกษตรหลัก ๆ ราคาตกต่ำรุนแรง กลายเป็นข้อจำกัดทำให้ต้องบริโภคและใช้จ่ายอย่างประหยัดหรือเท่าที่จำเป็นไม่แปลกที่ข้อมูลจากการวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเกี่ยวกับการซื้อเพื่อใช้ในบ้าน และไลฟ์สไตล์การบริโภคนอกบ้าน ที่ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) ศึกษาวิจัยจะชี้ว่า ครึ่งปีแรกที่ผ่านมาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง การจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี

ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งปลดล็อกให้ได้ และแก้ไขให้ตรงจุด เพราะหากคนระดับกลาง-ล่างมีรายได้เพิ่ม แบกรับภาระหนี้สินลดน้อยลง การบริโภคและกำลังซื้อก็จะกระเตื้อง ทั้งยังพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า GDP เติบโตจริง ไม่ได้ลวงตา ฝืนความรู้สึก เหมือนที่ผ่านมาและยังเป็นอยู่เวลานี้