เมื่อ Trade War แปรเปลี่ยนเป็น Tech War

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ มองข้ามชอต

โดย ดร.ศิวาลัย ขันธะชวนะ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนกลับมาปะทุอีกครั้ง เมื่อสหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่อัตรา 10% เพิ่มขึ้นเป็น 25% เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2019 ทำให้จีนต้องตอบโต้มาตรการทางภาษีโดยการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่อัตรา 5-10% เพิ่มเป็น 5-25% มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายนไปแล้วนั้น

แม้ว่าสหรัฐอ้างจุดประสงค์ของการขึ้นภาษีเพื่อต้องการลดการขาดดุลการค้ากับจีน โดยจีนเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 21% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐในปี 2018 และที่ผ่านมาสหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2018 มูลค่าดังกล่าวสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึงกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่อีกเหตุผลที่สำคัญเป็นประเด็นเรื่องที่จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อแลกกับการเจาะตลาดในจีน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT)

นอกเหนือจากมาตรการทางภาษี สหรัฐยังออกมาตรการเพื่อจำกัดการลงทุนของจีนในสหรัฐ และการเข้าถึงเทคโนโลยีในสหรัฐ เพราะเบื้องลึกเบื้องหลังเป็นกลยุทธ์การกีดกันทางการค้าของสหรัฐ เพื่อสั่นคลอนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ของจีน ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตหลักในจีน ให้จีนเป็นแหล่งผลิตสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก เพื่อผลักดันประเทศให้ก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และนั่นหมายถึง จีนจะเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของสหรัฐ

ล่าสุด ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามคำสั่งของฝ่ายบริหาร (Executive Order) ห้ามบริษัท Huawei ขายสินค้าและบริการในสหรัฐ อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเพิ่ม Huawei เข้าไปใน blacklist ห้ามบริษัทสหรัฐทำธุรกรรมกับ Huawei ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้า อุปกรณ์ชิ้นส่วน IT ซอฟต์แวร์ หรือถ่ายโอนเทคโนโลยี นอกจากจะได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลเท่านั้น เพราะมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งจะมีผลวันที่ 19 สิงหาคมนี้

Advertisment

รวมถึงออกกฎห้ามส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง 14 รายการ ไปยังจีน เช่น quantum computing, robotics และ artificial intelligence และยังมีมาตรการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการค้า เช่น การจำกัดการให้วีซ่าศึกษาต่อ และวีซ่าทำงานของคนจีนในสหรัฐ ในด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เริ่ม 11 มิถุนายนนี้

ทำไมต้องเป็น Huawei ? เพราะสหรัฐเกรงว่าการเดินหน้าพัฒนาระบบ 5G ของ Huawei จะทำให้จีนสามารถควบคุมเครือข่ายข้อมูลทั่วโลก ซึ่งสหรัฐเชื่อว่ารัฐบาลจีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง Huawei โดยอาจมีการติดอุปกรณ์ลับบางอย่างเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสอดแนมข้อมูล ในขณะที่สหรัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลของจีนได้น้อยมาก ซึ่ง Google, Facebook, Bing, WhatsApp, Twitter ฯลฯ ต่างก็โดนบล็อกไม่ให้ใช้ในจีน

Advertisment

นอกจากนี้ Huawei คือ คู่แข่งด้านเทคโนโลยีที่น่ากลัวของบริษัทสหรัฐ โดยเฉพาะ Apple ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2019 Huawei สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดสมาร์ทโฟนของโลก แซงหน้า Apple ไปได้สำเร็จ ขึ้นเป็นที่ 2 รองจาก Samsung โดยส่วนแบ่งการตลาดของ Huawei อยู่ที่ 17% (เพิ่มจาก 11% ในไตรมาสแรกของปี 2018) ในขณะที่ Apple อยู่ที่ 12% (ตกจาก 14% ในไตรมาสแรกของปี 2018)

ทั้งนี้ สมาร์ทโฟนของ Huawei มีอัตราการเติบโตของยอดจัดส่งสินค้าสูงกว่ายี่ห้อใด ๆ ที่ 50% YOY อยู่ที่ 59.1 ล้านเครื่อง ในไตรมาส 1 ของปี 2019 แต่สำหรับ Apple กลับหดตัวถึง 20% YOY เหลือ 42 ล้านเครื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นของ Huawei จากการพัฒนานวัตกรรมให้ล้ำหน้า โดยมีฟีเจอร์ใหม่ ๆ เช่น ระบบชาร์จไฟไร้สาย (reverse wireless charging) ที่ Apple ยังไม่มี การยกระดับกล้องบนสมาร์ทโฟนร่วมกับ Leica ด้วยเทคโนโลยี SuperSpectrum ให้ภาพคมชัดแม้แสงน้อย ซูมภาพได้ไกลและชัด ในขณะที่ราคาเครื่องถูกกว่า Apple อยู่มาก

ไม่เพียงแต่จีนที่จะได้รับผลกระทบจาก tech war เช่น การขึ้นภาษีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และ IT ทำให้จีนส่งออกไปสหรัฐได้ยากขึ้น หรือการแบนสินค้า IT บางยี่ห้ออาจส่งผลลบต่อการส่งออกของสินค้ายี่ห้อนั้นให้ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ในทางกลับกัน บริษัทสหรัฐจะได้รับผลกระทบเช่นกัน คือ 1) บริษัทที่นำเข้าชิ้นส่วนจากจีนเพื่อมาผลิตสินค้าของตัวเอง ต้องนำเข้าในราคาแพงขึ้น ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นส่วน IT ที่สหรัฐนำเข้ามาเพื่อผลิตต่อทั้งหมด ราวครึ่งหนึ่งนำเข้ามาจากจีน

และ 2) บริษัทที่อยู่ในซัพพลายเชนของจีน ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ semiconductor ให้จีนนำไปผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายแล้วส่งออกต่อไป ซึ่งในกรณีของ Huawei นั้น มูลค่าชิ้นส่วนที่ซื้อมาจากบริษัทสหรัฐ เช่น Qual-comm, Intel และ Micron Technology ในปี 2018 สูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนราว 16% ของมูลค่าชิ้นส่วนทั้งหมดของ Huawei

สำหรับประเทศอื่นนั้นจะมีความเสี่ยงหากอยู่ในซัพพลายเชนของจีน เช่น ไต้หวัน (บริษัท Foxconn, TSMC, ASE, Largan, MediaTek ฯลฯ) และเกาหลีใต้ (บริษัท SK Hynix, Samsung ฯลฯ) ซึ่งเป็น supplier ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของจีน อีกทั้งประเทศต่าง ๆ อาจต้องเลือกข้างว่าจะอยู่ทีมสหรัฐ หรือทีมจีน เช่น หากเลือกลงทุนเครือข่ายของจีน อาจต้องยอมโดนกดดันทางเศรษฐกิจและการเมืองจากสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม tech war จะเป็นโอกาสให้บางประเทศได้รับผลประโยชน์จาก 1) การย้ายฐานการผลิตของจีนไปประเทศอื่น (ในกรณีที่ขึ้นภาษี ไม่ได้แบนยี่ห้อสินค้า) โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งมีความได้เปรียบเรื่องค่าจ้างแรงงานถูก (ราว 1 ใน 3 ของจีน) ที่ตั้งอยู่ใกล้จีน และการเมืองมีเสถียรภาพ ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากจีนเข้ามาในเวียดนามสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่ง 4 เดือนแรกของปี 2019 เติบโตมากกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า จาก 230 ล้าน เป็น 1,315 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งมีแผนจะย้ายฐานการผลิตจากจีนไปเวียดนาม เพื่อลดผลกระทบจากภาษี
นำเข้าของสหรัฐที่สูงขึ้น เช่น Foxconn ที่ผลิตไอโฟน หรือ Goertek ที่ผลิตหูฟังให้ Apple ในส่วนของไทยนั้นมีบริษัท Sony ที่คาดว่าจะย้ายฐานการผลิตสมาร์ทโฟนจากปักกิ่งมายังไทย ภายในปี 2020 เป็นต้น

ผลประโยชน์ประการที่ 2) มาจาก substitution effect โดยประเทศที่เป็นคู่แข่งของจีนในสินค้าไฮเทคที่ใช้ทดแทนกันได้ จะได้รับประโยชน์ เช่น เมื่อ Huawei ถูกระงับการใช้ระบบปฏิบัติการ android อาจทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งเกิดความไม่มั่นใจในการใช้โทรศัพท์ Huawei และอาจเปลี่ยนไปใช้ Samsung ของเกาหลีใต้แทน ซึ่ง Samsung เป็นเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนที่ใหญ่ที่สุดของโลก และใช้ระบบ android เหมือนกัน

tech war อาจผลักดันให้จีนพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้ล้ำหน้าและพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว ความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีของจีนถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด สะท้อนจากผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดในโลก งบฯลงทุนด้านนวัตกรรมที่สูงที่สุดของโลก และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลจาก PwC) ซึ่งในปีนี้คาดว่าบริษัทในจีนจะมีค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (4% YOY)

สำหรับ Huawei ก็ได้ซุ่มพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองเตรียมรับมือหากโดนแบน พร้อมประกาศว่า บริษัทได้ถือครองสิทธิบัตรเทคโนโลยี 5G กว่า 16,000 ชิ้น มากกว่าบริษัททั้งหมดในสหรัฐรวมกัน ดังนั้นความมุ่งมั่นของจีนที่จะก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกในด้านเทคโนโลยี อาจเกิดขึ้นจริงและมาเร็วกว่าที่ใคร ๆ คิดยังต้องจับตาการประชุม G20 Summit ที่ญี่ปุ่น ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์จะพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ว่าสงครามครั้งนี้จะลงเอยได้หรือไม่