12 ก.ค.จับตา ค่ายา รพ.

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

หลังจากที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ออกประกาศ (ฉบับที่ 1/2562) ให้ยาและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการรักษาโรค บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรคเป็น “สินค้าและบริการควบคุม” ไปแล้ว เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ คณะกรรมการกลางฯก็ได้ออกประกาศฉบับที่ 52/2562 เรื่องการแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลตามมาติด ๆ

โดยประกาศฉบับที่ 52/2562 มีสาระสำคัญอยู่ 2 ส่วนคือ การแจ้งราคา กับหลักเกณฑ์เงื่อนไขการจำหน่ายและบริการ กำหนดให้ 1) โรงพยาบาลแจ้งข้อมูลราคาซื้อและจำหน่ายยา/เวชภัณฑ์-ค่าบริการรักษาพยาบาล-ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าบริการอื่นที่เกี่ยวกับการรักษาโรคตามรายการที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) กับ 2) ผู้ผลิตยา/ผู้นำเข้ายา/ผู้แทนจำหน่ายของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ายา แจ้งราคายาที่จำหน่ายให้กับโรงพยาบาลตามบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย (TMT) โดยให้แจ้งภายใน 45 วันนับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้

ส่วนหลักเกณฑ์เงื่อนไขการจำหน่ายยาและค่าบริการรักษาพยาบาลกำหนดให้ 1) โรงพยาบาลแสดงเครื่องหมาย QR code ที่จะถูกใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างราคายาที่โรงพยาบาลจำหน่าย กับราคายาที่กรมการค้าภายในจัดทำไว้ ซึ่งให้แสดง QR code ณ โรงพยาบาลนั้น ๆ “อย่างเปิดเผยชัดเจนและสะดวกในการเห็น” 2) ให้โรงพยาบาลต้องประเมินค่ารักษาพยาบาลตามการวินิจฉัยเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทราบทุกครั้ง โดยค่ารักษาพยาบาลที่ประเมินจะประกอบไปด้วยค่ายา/เวชภัณฑ์/ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าบริการอื่น ๆ

ในกรณีของการจำหน่ายยาให้กับผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลต้องออก “ใบสั่งยา” กับ “ใบแจ้งราคายา” ให้ผู้ป่วยทราบทุกครั้ง โดยใบสั่งยาจะต้องบอกชื่อสามัญยาและชื่อทางการค้า รูปแบบยา/ขนาด/ปริมาณอย่างชัดเจน ส่วนใบแจ้งราคายาต้องบอกชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย

การแจ้งราคาข้างต้นนั้น โรงพยาบาลและผู้ผลิต/ผู้นำเข้า/ผู้แทนจำหน่ายยา จะต้องแจ้งภายในวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 จะประกอบไปด้วย ยาในกลุ่มบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) จำนวน 3,892 รายการ, รายการยาที่มีการจำหน่ายสูงสุด 100 รายการแรกรวม 3,992 รายการ (ที่เหลืออีก 32,000 รายการจะทยอยดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด) ส่วนราคาเวชภัณฑ์ 868 รายการและค่าบริการทางการแพทย์ 5,286 รายการให้แจ้งภายในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ เฉพาะราคายา/เวชภัณฑ์ กรมการค้าภายในจะเผยแพร่บัญชีราคายาของกรมบัญชีกลางและข้อมูลราคายาที่กรมการค้าภายในตรวจสอบ (ต้นทุนราคายา) บนเว็บไซต์ www.dit.go.th รวมทั้งจัดทำ QR code ยาแต่ละรายการเพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้ใช้บริการโรงพยาบาลดูว่า เป็นราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนหรือไม่

ในส่วนของราคายา กรมการค้าภายในแจ้งว่า เว็บไซต์ www.dit.go.th จะใช้งานได้ภายในวันที่ 29 กรกฎาคม และหากผู้ป่วยได้เปรียบเทียบราคายาแล้วเห็นว่า โรงพยาบาลจำหน่ายราคายา “สูงเกินจริง” กรมการค้าภายในจะใช้ 2 มาตรการคือ เชิญโรงพยาบาลที่ถูกผู้บริโภคร้องเรียนมาชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อขอความร่วมมือให้จำหน่ายยาสอดคล้องกับราคาต้นทุน หรือการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งสามารถกระทำได้

อย่างไรก็ตาม ที่เป็นปัญหาและข้อยุ่งยากในทางปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ก็คือ ค่าบริการรักษาพยาบาลและบริการทางการแพทย์ หลังจากพบว่า บริการทางการแพทย์ปัจจุบันมีความหลากหลายมากอย่างน้อย 5,286 รายการยังไม่มีรหัสสากล (UCEP) ทำให้ตอนนี้ยังไม่สามารถกำหนดราคาค่าบริการทางการแพทย์ได้ โดยเห็นว่า ค่าบริการเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องหารือร่วมกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมวินาศภัย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

เบื้องต้นอาจจะต้องใช้ระยะเวลาถึง 3 ปีจึงจะกำหนดราคาค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลได้