แพ็กเกจพิเศษปลุกลงทุนไม่ใช่สูตรสำเร็จ

pixabay.com

บทบรรณาธิการ

ยอดการส่งออกสินค้าไทยเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ 21,205 เหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 และขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ถือเป็นข่าวดีในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยปัจจัยลบ เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน หลายหน่วยงานทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นักวิเคราะห์หลายสำนัก ทยอยปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ลงอีกรอบ

สาเหตุมาจากกังวลผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ความเสี่ยงจากสงครามทางการค้า ข้อพิพาทขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งปัจจัยภายในประเทศการบริโภคและการลงทุนชะลอตัว เงินบาทแข็งค่าขึ้น ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญ

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟสแรก วงเงินรวมกว่า 3 แสนล้านบาท ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 20 สิงหาคม แม้เป้าหมายหลักคือ การปลุกกำลังซื้อของคนระดับกลางและล่างที่มีปัญหาเรื่องรายได้ แต่ผลลัพธ์จะเป็นไปตามที่คาดหวังมากน้อยเพียงใดยังต้องจับตาและรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

อย่างไรก็ตาม เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า อีกแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลจะนำมาใช้คือ การจัดทำแพ็กเกจกระตุ้นการลงทุนของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ

ขณะเดียวกันก็เตรียมจัดโรดโชว์ตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ที่จะให้เพิ่มเป็นพิเศษ สำหรับนักลงทุนประเทศกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เข้ามาลงทุนเท่ากับรัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อ

โดยเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าควบคู่กับดำเนินมาตรการระยะกลาง ระยะยาว กระตุ้นการตัดสินใจลงทุน แม้ที่ผ่านมาหลายมาตรการที่ผลักดันประกาศใช้จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนน้อยกว่าที่คาด

เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี สิทธิพิเศษในการลงทุนที่รัฐให้แล้ว มีอีกหลากหลายปัจจัยที่ภาคธุรกิจนักลงทุนนำมาใช้ประกอบการพิจารณา อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจการเมืองในประเทศ นโยบายภาครัฐ ความพร้อมเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ความรู้ ทักษะ อัตราค่าจ้างภาคแรงงาน ฯลฯ

ที่สำคัญทุกปัจจัยต้องเอื้อให้นักลงทุนเชื่อมั่นได้ว่าตัดสินใจไม่ผิดและได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า ชี้ให้เห็นว่าสิทธิพิเศษที่หยิบยื่นให้ไม่ใช่สูตรสำเร็จเสมอไป