“หมูไทย-ไก่ไทย” โอกาสท่ามกลางวิกฤต ASF

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย เพ็ญภัสสร์ วิจารณ์ทัศน์

“อยู่เมืองไทยแสนดีหนักหนา ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงเลยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ แม้เทคโนโลยีการผลิตอาหารจะก้าวหน้าไปขนาดไหน ประเทศไทยก็ยังคงรักษาความเป็นอู่ข้าว อู่น้ำทั้งของคนไทยและคนทั่วโลก โดยพัฒนาตัวเองขึ้นมาจากภาคเกษตรสู่การเป็น “ครัวของโลก” คำว่าอาหารของไทยไม่ได้หมายถึงเพียงเมนูอาหารพร้อมทาน แต่หมายรวมถึงการผลิตอาหารตั้งแต่ต้นทางที่ประเทศไทยกลายเป็นผู้ผลิตติดอันดับโลก อาทิ ข้าวไทยที่ครองแชมป์เบอร์ 1 ของโลก ทุเรียนไทยก็ครองแชมป์ หรือภาคปศุสัตว์ อย่างไก่เนื้อไทยก็เป็นที่ 4 ของโลก หมูไทยอันดับ 3 ของโลก หรือกุ้งไทยที่เป็นแชมป์อันดับ 1 ของโลก

กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตอาหารชั้นนำที่ทั่วโลกให้การยอมรับแบบนี้ ไทยเราต้องผ่านอุปสรรค ความท้าทายต่าง ๆ มากมาย นำไปสู่พัฒนาการตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารและสามารถสร้างมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารขั้นสูงที่หลาย ๆ ประเทศคู่ค้าต้องการได้สำเร็จ ในระหว่างทางของการพัฒนาก็มักมีความท้าทายเข้ามาพิสูจน์ความสามารถเสมอ ดังเช่นปัจจุบันที่โรค ASF ในสุกร กำลังระบาดในหลายประเทศ ไล่มาตั้งแต่ทิเบต จีน เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว ขณะที่ไทยยังไม่พบโรคและมีการเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันโรคดังกล่าวอย่างรัดกุม สะท้อนศักยภาพของประเทศไทยในระดับที่เหนือชั้นกว่าหลาย ๆ ประเทศ

ข้อดีของ ASF คือ เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คน ผู้บริโภคสามารถรับประทานหมูได้อย่างปลอดภัยตามปกติ

แต่ในกลุ่มเกษตรกรนั้นถือเป็นความเสี่ยงต่ออาชีพ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เลี้ยงหมูหลังบ้าน หรือเลี้ยงอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ และเนื่องจากยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโรค ทำให้เมื่อเกิดโรคแล้วต้องทำลายหมูที่ป่วยและที่อยู่ในรัศมีใกล้เคียงทั้งหมด ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการระบาดของโรค จึงนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนหมูในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จีน” ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่บริโภคเนื้อหมูมากที่สุดในโลกถึง 55 กก./คน/ปี แต่ครั้งนี้จีนได้ทำลายหมูไปแล้วกว่าล้านตัว เป็นเหตุให้หมูไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ความกังวลเกี่ยวกับ ASF ยังทำให้ผู้เลี้ยงหมูในจีนลดลงถึง 34% แม้จีนจะนำเนื้อหมูสำรองแช่แข็งทั้งหมดที่มีราว 1 ล้านตันออกมา ก็ยังไม่เพียงพอที่จะอุดช่องว่างอุปทานเนื้อหมูที่ขาดไปกว่า 10 ล้านตัน กระทบให้ราคาเนื้อหมูมีราคาสูงขึ้นทันทีถึง 50% ขณะเดียวกัน ยังทำให้ชาวจีนต้องหันหาเนื้อสัตว์ชนิดอื่นทดแทน เช่น เนื้อไก่ ทำให้ราคาไก่พุ่งสูงขึ้นตาม และสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 1 เท่าตัว โดยมีการคาดการณ์กันว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ไปจนกว่าจีนจะสามารถคลี่คลายปัญหา ASF ในหมูได้สำเร็จ ซึ่งน่าจะกินเวลาราว 1-2 ปี

สถานการณ์เช่นนี้เป็นโอกาสของประเทศไทยอย่างมาก เห็นได้จากตลาดฮ่องกงซึ่งนำเข้าหมูจากจีนถึง 90% เมื่อได้รับผลกระทบขาดแคลนหมูไปด้วยก็ได้เริ่มสั่งเนื้อหมูซีกแช่เย็นจากไทยเข้าไปจำหน่ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในราคาสูงลิบ นอกจากนี้ยังแว่วว่า จีนกำลังเล็งหาตลาดเพื่อซัพพลายเนื้อหมูเพิ่มขึ้น โดยหมูไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมาย ด้วยศักยภาพของการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมหมูที่ยังคงป้องกัน ASF ได้ รวมถึงมาตรฐานการเลี้ยงหมูในประเทศไทยที่เลี้ยงในฟาร์มระบบปิดมากถึง 70-80% ของทั้งประเทศ (ต่างจากจีนที่มีฟาร์มระบบปิดเพียง 30%)

สำหรับเนื้อไก่ของบริษัทไทยที่ส่งออกไปยังประเทศจีนอยู่แล้ว 7 โรงงาน อาทิ ซีพีเอฟ สหฟาร์ม ฯลฯ นับว่าได้อานิสงส์จากสถานการณ์นี้ทันที จากราคาขายไก่ที่สูงขึ้นถึงเท่าตัว อาทิ ตีนไก่จากตันละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 4,200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือปีกกลางไก่ จากตันละ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 5,200 ดอลลาร์สหรัฐ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยถึงกับออกปากว่า “ราคาไก่ระดับนี้ไม่เคยปรากฏที่ไหนในโลก” โดยที่จีนยังส่งคนเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานโรงงานผลิตไก่ของไทยอีกหลายแห่ง เพื่อเล็งหาแหล่งซัพพลายเนื้อไก่เพิ่มขึ้นด้วย นี่จึงนับเป็นโอกาสอันดีอย่างที่สุดของผู้ผลิตไก่ไทย

หมูไทย-ไก่ไทยเนื้อหอมเพราะมีพัฒนาการต่อเนื่องจึงมีความพร้อมรับทุกสถานการณ์ และท่ามกลางวิกฤต ASF ของหลายประเทศในครั้งนี้ จึงกลายเป็น “โอกาสงาม” ของไทยเรา ขอให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมอาหารช่วยกันรักษามาตรฐานเช่นนี้ต่อไป ไทยก็จะเป็นครัวของโลกได้อย่างยั่งยืน