บาทแข็ง-หยวนอ่อน กระทบท่องเที่ยวไทยแค่ไหน ?

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย พิมฉัตร เอกฉันท์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธ.กรุงไทย

ที่ผ่านมาทั่วโลกต่างเผชิญเศรษฐกิจที่เติบโตชะลอลง จากผลพวงของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศจนลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจระลอกใหม่ สะท้อนได้จากจีดีพีโลกในปี 2019 ที่คาดว่าจะเติบโตได้เพียง 3.0% (ข้อมูลจาก IMF เดือน ต.ค. 2019) อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับขยายตัวมากกว่าเศรษฐกิจโลก อ้างอิงจาก The United Nations World Tourism Organization (UNWTO) ที่คาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ออกเที่ยวต่างประเทศทั่วโลกในปี 2019 อาจขยายตัวได้มากถึง 4.0% และยังมีโอกาสเติบโตได้ดีในระยะข้างหน้า

สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลายเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจ คิดเป็น 20% ของจีดีพี ซึ่งจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2018 อยู่ที่ 38.2 ล้านคน สร้างรายรับเกือบ 1.9 ล้านล้านบาท ดันให้รายรับของไทยพุ่งสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก (รองจากสหรัฐ สเปน และฝรั่งเศส) ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยแล้วพบว่า เราพึ่งพาดีมานด์จากนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุดถึง 28% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด หรือประมาณ 10 ล้านคนต่อปี สร้างรายรับกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งเกือบเทียบเท่าขนาดเศรษฐกิจของภาคตะวันตกทั้งหมดเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเยือนไทยกลับลดลงอย่างต่อเนื่องถึง -4.6% จากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต ฉุดภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในปี 2019 ให้ขยายตัวชะลอลงกว่าที่หลายฝ่ายคาด เป็นผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างจริงจังเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากชาวจีน ทว่าเงินบาทที่เริ่มแข็งค่ามากขึ้นในระยะหลังผนวกกับเงินหยวนอ่อนค่า อาจทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า “ค่าเงินมีผลต่อการตัดสินใจมาเที่ยวไทยของชาวจีนมากน้อยแค่ไหน ?” “แล้วต่อไปไทยจะมีอะไรที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนอีกบ้าง ?”

ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการตัดสินใจออกเที่ยวของชาวจีนมากกว่าค่าเงิน

ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2019 เงินบาทเทียบดอลลาร์ทรงตัวในกรอบแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 4.2% ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับเงินหยวนเทียบดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงราว 0.5% ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบหยวนแข็งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 บาทต่อหยวน เมื่อเทียบกับปี 2018 ที่ 4.9 บาทต่อหยวน กล่าวคือ ชาวจีนที่มาเยือนไทยจะต้องใช้เงินหยวนมากขึ้น หรือสินค้าและบริการในไทยอาจแพงขึ้นในสายตานักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ดี ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนในช่วง ก.ค.-ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา กลับสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตที่สูงถึง 21.1% ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวก็ขยายตัวได้ดีที่ 20.5% และหากมองย้อนไปยังช่วงที่เงินหยวนเคยอ่อนค่ารุนแรงช่วงปี 2016 ก็พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยก็ยังคงขยายตัวสูงถึง 11% ในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ Krungthai COMPASS ได้ศึกษาอิทธิพลของค่าเงินหยวนเทียบสกุลท้องถิ่นต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ออกไปเที่ยวต่างประเทศ ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของดัชนีค่าเงินถ่วงน้ำหนักเทียบสกุลปลายทางท่องเที่ยวหลัก ๆ หรือ NEER Chinese Outbound Tourism Index ในช่วงปี 2011-2019 (ไม่รวมถึงฮ่องกง ไต้หวัน และมาเก๊า) ซึ่งพบว่าค่าเงินไม่มีอิทธิพลอย่างมีนัยต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวนอก นับตั้งแต่ช่วงเวลาเดียวกันไปจนถึง 12 เดือนข้างหน้า

แต่ในทางกลับกัน ประเด็นอ่อนไหวของแต่ละประเทศกลับมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนค่อนข้างมาก อาทิ ข้อพิพาททางการเมืองระหว่างจีนและเกาหลีใต้ และความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่น รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ดังเช่นกรณีเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต และแผ่นดินไหวรุนแรงที่อินโดนีเซีย ซึ่งด้วยบริบทเหล่านี้ ประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศและความปลอดภัยในการท่องเที่ยว จึงมีนัยต่อการตัดสินใจออกเดินทางเที่ยวต่างประเทศของชาวจีน มากกว่าเรื่องค่าเงินบาทแข็งหรือหยวนอ่อน

แต่ค่าเงินกลับมีผลต่อรายรับจากการท่องเที่ยวในรูปของเงินบาท

เราอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากเหตุเงินบาทแข็งค่าก็ยังคงส่งผลกระทบต่อภาพรวมรายรับจากการท่องเที่ยวของไทยในรูปของสกุลเงินบาท โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2019 รายรับจากนักท่องเที่ยวจีนในรูปของเงินดอลลาร์ขยายตัวสูงถึง 8.7% ส่วนในรูปของเงินบาทขยายตัวเพียง 5.5%

ทั้งนี้ อิทธิพลของเงินบาทแข็งปะทะกับหยวนอ่อนค่าอาจส่งผลต่อรายรับจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกำลังซื้อของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่อ่อนไหวต่อราคาสูง (price-sensitive) หรือมีข้อจำกัดด้านงบประมาณสำหรับการท่องเที่ยว อาจเปลี่ยนเส้นทางไปยังประเทศใกล้เคียงที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าหรือใช้จ่ายในไทยน้อยลง ซึ่งหากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินของคู่เทียบ จนทำให้สินค้าและบริการในไทยมีราคาสูงขึ้นในสายตาของชาวต่างชาติ อาจเสี่ยงที่ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าครองชีพถูกกว่า ดังเช่นในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2019 ที่อัตราแลกเปลี่ยนสกุลบาทเทียบหยวนแข็งค่ามากถึง 7.6% (เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่แข็งค่าราว 1.9% ต่อปี) แข็งค่าที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ประกอบกับค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยก็สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านถึงเกือบเท่าตัว

นอกจากนี้ ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมที่รุนแรงมากขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายจึงเน้นจัดโปรโมชั่นลดราคาที่พักลง เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวและชดเชย

ผลของเงินบาทแข็งค่า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโรงแรมที่พักเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปพร้อมกับเทรนด์การออกท่องเที่ยว จนทำให้จำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยในปี 2017-2018 จำนวนห้องพักพร้อมขายเพิ่มขึ้นถึง 11.6% ต่อปี ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศกลับขยายตัวเพียง 6.4% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ยิ่งนักท่องเที่ยวจีนรวยขึ้น ความกังวลของเงินบาทแข็งจะยิ่งลดลง

หากมองด้านกำลังซื้อพบว่า คนจีนรวยขึ้นและในลักษณะกระจายตัวมากขึ้น สะท้อนผ่านรายได้ส่วนบุคคลสุทธิ (disposable income) ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.2% จาก 1.8 หมื่นหยวนต่อคนต่อปี ในปี 2013 เป็น 2.6 หมื่นหยวนต่อคนต่อปีในปี 2017 ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 7.1% และหากพิจารณาในระดับมณฑลพบว่า ระดับความมั่งคั่งของคนจีนไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะเขตเมืองใหญ่ ดังเช่น ปักกิ่ง หรือเซี่ยงไฮ้ แต่เพียงอย่างเดียว แต่เริ่มเห็นการเติบโตของรายได้ส่วนบุคคลสุทธิกระจายไปในมณฑลอื่น ๆ มากขึ้น

นอกจากนี้ สัดส่วนชนชั้นกลางระดับสูง (mass affluent) ของจีน ก็เพิ่มจาก 4 ล้านครัวเรือน หรือราว 1.7% ของครัวเรือนทั้งหมดในปี 2010 เป็น 26 ล้านครัวเรือน หรือ 8.2% ในปี 2018 ยิ่งกว่านั้นจากรายงานของ Mckinsey คาดการณ์ว่า สัดส่วนชนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นเป็น 162 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 43% ภายในปี 2030 ซึ่งจะทำให้ประชากรกลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูง (mass affluent and above) เพิ่มจำนวนขึ้น จนกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกว่า 58.5% ของประชากรจีนทั้งหมด ดังนั้นยิ่งชาวจีนมีความมั่งคั่งมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเอื้อให้คนจีนออกไปเที่ยวมากขึ้น ส่วนประเด็นเงินบาทแข็งค่าอาจเป็นเพียงปัจจัยรองลงมา

โดยสรุปแล้ว ดีมานด์ของนักท่องเที่ยวจีนที่อยากออกเที่ยวต่างประเทศในระยะข้างหน้ายังคงมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความอ่อนไหวต่ออัตราแลกเปลี่ยนจะค่อย ๆ ถูกลดทอนลงไปตามความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าขาเข้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa on arrival) และการทำการตลาดในจีน อาจมีส่วนหนุนตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเยือนไทยได้เพียงชั่วคราวเช่นเดียวกับหลายประเทศ แต่กลับไม่เพียงพอที่จะจับตลาดนักท่องเที่ยวจีนได้ในระยะยาว

ดังนั้นการดึงจุดเด่นของการท่องเที่ยวไทยที่เป็นเอกลักษณ์ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (responsible tourism) เพื่อให้เกิดความหวงแหนมรดกและวัฒนธรรม ตลอดจนการยกระดับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทั้งระบบ จึงเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีความโดดเด่นและแตกต่าง และสามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางบริบทการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น