พร้อมเข้าสู่ Cashless Society หรือยัง ?

คอลัมน์ Redpillz

โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.Redpillz.com

นับเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญ ที่จะมีการเริ่มทำ cashless society หรือเป็นไทยว่า “สังคมไร้เงินสด” ในประเทศไทย เนื่องจากมีแรงจูงใจที่ชัดเจนของทางภาครัฐ แต่ส่วนตัวผมเองได้เห็นปรากฏการณ์นี้มานานพอสมควรแล้วจึงไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมาก จำได้ว่าตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจไอทีมานั้น ได้เห็นคำว่า cashless วิ่งผ่านไปผ่านมาอยู่แล้ว ซึ่งจะได้ยินในหลาย ๆ ชื่อด้วยกัน บางทีเป็นยี่ห้อ เช่น Apple Pay บางทีมาเป็นคำดื้อ ๆ ก็มี เช่น e-Money ดังนั้นเลยต้องมี e-Wallet บ้าง ซึ่งคนไทยเราถ้าใครขึ้นรถไฟฟ้าก็ได้สัมผัสกันอยู่แล้ว

แต่ที่ผมมีอาการตื่นเต้นอย่างมาก ก็เพราะทางกระทรวงการคลังเองอยากให้มีการ disrupt ในการใช้จ่ายเงิน จากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2396 ที่เราเริ่มมี “หมาย” ในการใช้ชำระหนี้ ไล่มาเรื่อยจนเป็นธนบัตร ถึงแม้จะเปลี่ยนหน้าตาไปยังไง มันก็คือธนบัตรที่จับต้องได้

การที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องการให้ cashless society เกิดขึ้นนั้น ย่อมมีประโยชน์มหาศาลอย่างแน่นอน โดยเฉพาะถ้าเป็นภาครัฐจะชัดเจนมาก ลองนึกดูว่าการที่เงินของคุณไหลเข้า-ออก โดยผ่านระบบ IT ซึ่งมีเส้นทางการไหลที่ชัดเจน ว่ามาจากไหน และจะไปไหนต่อ ภาครัฐก็จะสามารถติดตามรูปแบบการหาเงิน ใช้เงิน การจ่ายภาษี การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือ และสามารถดูสภาวะการเงินว่าคล่องหรือฝืด อีกทั้งยังลดคดีการปล้นซึ่งหน้าลง เพราะฉะนั้นผมจึงไม่แปลกใจ ว่าทำไมภาครัฐจึงผลักดันเต็มสูบเกี่ยวกับเรื่องนี้

แต่ที่มาเล่าให้ฟังถึงประโยชน์ภาครัฐนั้น ผมไม่ได้มาสร้างความกลัวแม้แต่น้อย เพราะถ้าทำทุกอย่างบนพื้นฐานของความถูกต้องอยู่แล้ว cashless society ที่ทางภาครัฐได้ประโยชน์นั้นสามารถสนองกลับเป็นประโยชน์ให้ประชาชนได้อย่างเต็มที่เช่นกัน ตัวอย่างเช่น การออกผลประโยชน์ด้านภาษี การทำธุรกรรมกับภาครัฐที่เร็วขึ้น มีขั้นตอนน้อยลง มีการลงทุนหรือกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐที่แม่นยำมากขึ้น เป็นต้น

Advertisment

สำหรับภาคเอกชนเองก็มีประโยชน์ในการเข้า cashless society เช่นเดียวกัน คุณรู้หรือไม่ว่าคนที่จะได้รับประโยชน์คนแรก ๆ เลย สำหรับเรื่องนี้คือการแก้ปัญหาแม่ค้าไม่ชอบทอนเงิน พอเห็นแบ๊งพันบาททีไรเป็นต้องเบะหน้าใส่เราทุกที แต่ cashless society จะทำให้ปัญหาพื้นฐานแบบนี้หมดไป จนไปถึงการซื้อขายของ e-Commerce เอง ก็จะคล่องขึ้น ทำให้เศรษฐกิจคล่องตัวขึ้นด้วย แจ็ก หม่า (Jack Ma) เองก็ทุ่มสุดตัวเรื่องนี้ อยากให้เกิดสังคมไร้เงินสดให้ได้ เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจของเขาโดยตรง

ด้วยแนวคิดแบบนี้ เลยทำให้เมืองใหญ่ ๆ หลายเมืองของประเทศจีนแทบไม่มีการใช้เงินสดอีกต่อไปแล้ว ซึ่งส่งผลดีมาถึงเมืองไทยด้วย คือทำให้ร้านค้าหลายแห่งในไทยรับ Alipay กับ Wechatpay ทำให้คนไทยตื่นตัวเรื่องนี้กันมากขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงทำให้เห็นภาพจากจีนค่อนข้างชัด ถ้ามองไปทางยุโรปประเทศที่เป็นต้นแบบของสังคมไร้เงินสด คือ ประเทศสวีเดน ซึ่งหลาย ๆ สำนักฟันธงแล้วว่า “สวีเดนโมเดล” นั้น เป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีว่า สังคมไร้เงินสดสามารถเกิดขึ้นได้จริง

Advertisment

แต่..สิ่งที่เราจะคุยกันในวันนี้ไม่ใช่เรื่องที่กล่าวมา แต่เป็นคำถามที่ว่า “คุณพร้อมแล้วจริงหรือที่จะรับมือกับสิ่งที่ตามมากับสังคมไร้เงินสด ?”

ลองนึกภาพว่าเมื่อการได้เงินมาและการใช้เงินของเราโดนติดตามตรวจสอบได้หมด ดังนั้น สิทธิขั้นพื้นฐานในเรื่องความเป็นส่วนตัวของเราจะหมดไปในทันที ไม่ว่าจะกับทางภาคเอกชนและภาครัฐ

จริงอยู่ เราอาจจะไม่ต้องกลัวหรือกังวลอะไรหากเราเป็นสุจริตชน แต่ถ้าสมมุติว่าคุณเป็นคนสุจริตที่กำลังโดนคนไม่ดีเอาข้อมูลส่วนตัวไปทำประโยชน์อย่างอื่น หรือคนที่เก็บข้อมูลนั้น ๆ ไม่สามารถป้องกันได้ดีพอ แล้วข้อมูลของคุณโดนขโมยไปเพื่อการบางอย่างที่ไม่ดีกับตัวคุณ ซึ่งดูเหมือนว่าเราจะไม่มีความเป็นส่วนตัวหรือรักษาข้อมูลได้ด้วยตัวเอง หรือบางคนอาจไม่แคร์อะไร

หรือบางคนก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงผู้สูงอายุบางคนอาจไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ หนักกว่านั้นคือถ้าคนจะจ่ายเงินไม่มี internet ในมือถือ โดยที่คนรับจ่ายก็มีแต่ QR offline คนจ่ายเงินจะทำอย่างไร หรือคิดเล่น ๆ เอาแบบหนังฮอลลีวูด โดน Grand Thief Hacker เข้ามาทำอะไรกับข้อมูลเงินหรือข้อมูลที่มีความอ่อนไหวนั้น

ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมา เป็นเพราะอยากให้สังคมไร้เงินสดเกิดจริง ๆ และไร้ข้อกังขา ซึ่งองค์กรภาครัฐ เช่น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ดูเหมือนว่าเตรียมรับมือไว้อย่างดี จากเอกสารที่ตีพิมพ์และเผยแพร่ แต่ผมเองแอบอดคิดไม่ได้ว่า เมื่อเกิดเรื่องขึ้นมาจริง ๆ เราจะสามาถแก้สถานการณ์นั้นได้จริงหรือ ซึ่งต่อจากนี้คงเป็นภารกิจของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องที่ต้องสร้างความมั่นใจ ความเข้าใจ ความเท่าเทียม และการเข้าถึงต่อสังคมไร้เงินสดให้ได้