“ปลดล็อก” ท่ามกลางโควิด ปรับตัวอย่างไรให้รอด…

เครดิตภาพ : Chiva Puri

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่ายินดีที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ลดต่ำลงเรื่อย ๆแต่ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขของคนที่ได้รับผลกระทบพุ่งขึ้นไปอย่างมหาศาลจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ซบเซา

ทำให้หลายภาคส่วนมองว่าถึงเวลาที่ภาครัฐควร “ผ่อนคลายมาตรการ” ต่าง ๆ ลงบ้าง หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯครบกำหนดวันที่ 30 เมษายน 2563

แต่แน่นอน หมอทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “การ์ดอย่าตก” หากโควิดกลับมาระบาดรอบ 2 อาจจะหนักกว่าเก่า

ดังนั้น การทำให้เกิด “ความสมดุล” ทั้งสองส่วนอยู่ในภาวะตึงเครียด มีผู้ประกอบการบางส่วนไม่นั่งรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่นั่งรอให้กระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการมาบงการชีวิต แต่ได้เตรียมการ “ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนในอนาคต”

ดังเช่นธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต “ชีวาปุรี บีช รีสอร์ท” อยู่ทางใต้ของเกาะช้าง จังหวัดตราด รีสอร์ตมาตรฐานเดียวกับโรงแรมระดับ 4 ดาว ภาวะปกติลูกค้าที่มาพัก 100% เป็นชาวยุโรป สแกนดิเนเวีย แม้ปัจจุบันธุรกิจที่พักโรงแรม รีสอร์ตถูกจังหวัดสั่งปิดกิจการพร้อมกันทั้งจังหวัดไปแล้ว

โดย “สุภรณ์ สลักเพชร” เจ้าของได้ปรับตัวท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม โดยอาศัยประสบการณ์ที่เคยมีอาชีพเป็นพยาบาล เป็นนักวิชาการควบคุมโรคมา 20 ปี มาบริหารจัดการโรงแรมให้มีระบบขั้นตอนดูแล “เสมือนมีโรงพยาบาลอยู่ในรีสอร์ต” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า

โดยใช้กระบวนการสร้างสุขอนามัย เริ่มจากทำความเข้าใจและให้ความรู้กับพนักงานทุกคนก่อน สอนวิธีใช้และทำความสะอาด พนักงานต้องปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยตามมาตรการของรีสอร์ต

ส่วนลูกค้าเริ่มดูแลลูกค้าตั้งแต่นั่งรถลิมูซีนจากสนามบินมาส่งที่รีสอร์ต ตั้งแต่ทางเข้าลูกค้ามาถึงพนักงานลงทะเบียนต้องซักถามประวัติลูกค้า พนักงานทุกคนต้องใส่แมสก์ ยืนเหนือลมระยะห่าง 2 เมตร เพราะลูกค้ายุโรปจะไม่นิยมใส่แมสก์ การอยู่เหนือลมจะไม่ได้รับการแพร่เชื้อจากลูกค้า

หลังจากนั้น จะมีพนักงานระดับหัวหน้างานมาอธิบาย “for safe everyone” ใช้เวลา 10-30 นาที เพื่อให้รับรู้ถึงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ต้องร่วมมือกันเฝ้าระวัง ป้องกัน แนะนำถึงการปฏิบัติตัวเมื่อพักอยู่ในโรงแรม มีอะไรที่ต้องทำ และไม่ควรทำ การงดให้บริการสระว่ายน้ำ นวดสปา มีป้ายแนะนำขั้นตอนการล้างมือที่ถูกวิธี พร้อมแอลกอฮอล์เจล แก้วน้ำดื่มที่ใช้แล้วต้องผ่านการฆ่าเชื้อ การวัดไข้ด้วยเทอร์โมสแกน

นอกจากนี้ต้องเปลี่ยนวิธีการให้บริการในด้านต่าง ๆ ของโรงแรม เช่น การรับประทานอาหารจัดเป็นชุดเฉพาะบุคคลแทนบุฟเฟ่ต์ และจัดที่นั่ง โต๊ะเว้นระยะห่างทางสังคม 1-2 เมตร ที่นั่งโต๊ะระบุที่นั่งตามเบอร์ห้องพักเป็นส่วนตัว เช่นเดียวกับเตียงอาบแดดที่ชายหาด มีนัมเบอร์ห้องระบุไว้เช่นกัน ต้องทำเทอร์โมสแกนทุกวันหากมีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียสจะส่งโรงพยาบาลใกล้รีสอร์ต

หลังจากลูกค้าใช้บริการทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว พนักงานจะเอาน้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดให้ลูกค้าเห็น ให้มีความรู้สึกมั่นใจความสะอาดจริง ๆ การทำความสะอาดของแม่บ้านจะทำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ใส่หมวกอาบน้ำ ผ้ากันเปื้อน แว่นตา ถุงมือ เซฟตัวเองเพราะไม่รู้ว่าลูกค้าและพนักงานเองปนเปื้อนเชื้อหรือไม่

ด้านของใช้ประจำวัน ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอนวางไว้ด้านนอกให้ลูกค้าเปลี่ยนผ้าปูเอง ผ้าเช็ดตัวที่ต้องการซักลูกค้าจะวางไว้ที่จุดกำหนด การทำความสะอาดพื้นใช้หุ่นยนต์ เมื่อลูกค้าเช็กเอาต์พนักงานจะใช้น้ำยาไฮโปคลอไรด์ทำความสะอาดห้อง ล้างแอร์ เครื่องใช้ทั้งหมด

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นเครื่องการันตีความสะอาดที่ทำให้เมื่อช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดใหม่ ๆ ประเทศไทยยังไม่มีการประกาศมาตรการต่าง ๆ ทำให้ “ชีวาปุรี บีช รีสอร์ท” ยังมีลูกค้าประมาณ 50-60% แถมเป็นลูกค้าใหม่ที่มาพัก สิ่งที่ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่น และทำให้ลูกค้าจองข้ามปี และแนะนำเพื่อนทางโซเชียลมีเดียต่อ ทำให้ได้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น โดย “ไม่มีลูกค้ายกเลิกการจอง”

ตอนนี้ “ชีวาปุรี บีช รีสอร์ท” ยังมีลูกค้าฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ไอซ์แลนด์ อเมริกา เหลือ 5 ห้อง เป็นลูกค้าเก่ายังไม่เดินทางกลับ ขออยู่เป็นรายเดือนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้

จะเห็นได้ว่าการปรับตัวของธุรกิจทำให้ลูกค้าเก่า และลูกค้าใหม่ให้ความเชื่อมั่น ขณะที่โรงแรม รีสอร์ตหลายแห่งในหลายจังหวัดต่าง “ถูกยกเลิกจองห้องพัก”

จึงหวังว่าการปรับตัวของ “ชีวาปุรี บีช รีสอร์ท” จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้ประกอบการในแวดวงเดียวกัน และหลายธุรกิจได้เห็นว่า หนทางในการอยู่รอดของธุรกิจสามารถทำได้ เพียงแต่ทุกคนต้องเริ่มนับหนึ่งในการปรับตัวเองก่อน การผ่อนคลายมาตรการของรัฐ ท่ามกลางวิกฤตโควิด…ไม่ง่ายที่ธุรกิจจะรอด