รับมือม็อบ-รุกฝ่าพายุเศรษฐกิจ

ม็อบแยกปทุมวัน
FILE PHOTO : REUTERS/Soe Zeya Tun
บทบรรณาธิการ

ระยะเวลา 7-8 เดือนที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศ ถึงตอนนี้แม้ช่วงที่สถานการณ์เลวร้าย
จะผ่านพ้นไปหลายเดือน โควิดคลี่คลายจนเกือบเป็นปกติ แค่ยังต้องตั้งการ์ดสูง ระมัดระวังไม่ให้กลับมาระบาดรอบสอง แต่ที่หนักหนาสาหัสกระตุ้นเยียวยายังไม่ฟื้นคือ ภาคท่องเที่ยวกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งมีข้อจำกัด ทั้งเรื่องทุนรอน ขีดความสามารถในการแข่งขัน

แม้ไทยจะทำสถิติพิชิตโควิด-19 ติดอันดับต้น ๆ เป็นที่ชื่นชมไปทั่ว ถึงขนาดองค์การอนามัยโลกจะนำไปปรับใช้เป็นโมเดลตัวอย่างในการสกัดควบคุมโควิดในหลายประเทศ แต่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เปราะบางยังไม่เห็นผล รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ปลุกกำลังซื้อซ้ำ ๆ แจกเงิน เติมเงิน ลดหย่อนภาษี เหมือนเติมน้ำเท่าไหร่ไม่รู้จักเต็ม

โค้งสุดท้ายปลายปีนี้ที่นักวิเคราะห์หลายสำนักมองแนวโน้มเป็นบวก ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะติดลบลดน้อยลง โดย GDP ของไทยปีนี้ทั้งปีจะอยู่ที่ -7.8 ถึง -7.3 แต่เอาเข้าจริงอาจแย่กว่าที่คิด จากปัจจัยทางการเมืองที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอน

หลังม็อบกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 รวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ตั้งแต่ 14 ตุลาคม เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลาออก ให้สภาเปิดการประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ แม้มีการกระทบกระทั่งระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย โดยไม่มีเหตุรุนแรง แต่น่าห่วงว่านานวันจะควบคุมสถานการณ์ลำบาก เสี่ยงถูกแทรกแซงโดยมือที่สาม

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยกลับมาดำเนินการตามปกติมากขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มมีความหวังจากที่รัฐบาลเตรียมปลดล็อกเปิดประเทศ ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยแบบจำกัด จึงอาจถูกเลื่อนระยะเวลาออกไป หากสถานการณ์ทางการเมืองมีความเสี่ยง ส่งผลต่อความเชื่อมั่น

กลายเป็นสมการหลายชั้น หลายตัวแปร เพิ่มความยุ่งยากให้กับโจทย์เศรษฐกิจ กับปัญหาปากท้อง
ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ เพราะสถานการณ์ขณะนี้ไม่ใช่แค่ระดับรากหญ้า ชนชั้นกลางที่ได้รับความเดือดร้อน
ธุรกิจทั้งใหญ่เล็กก็ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และโควิด-19 ซึ่งคาดเดาได้ลำบากว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด

รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งถอดสลัก แก้ปัญหาการเมืองโดยยึดกรอบกฎหมาย ใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ลดปมขัดแย้ง สำคัญสุดคือต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง ควบคู่กับเหยียบคันเร่งกู้วิกฤตเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น ฝ่ามรสุมลูกใหญ่ให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า