คิดต่างสร้างโรบินฮู้ด CSR สไตล์ “เอสซีบี”

คอลัมน์ สามัญสำนึก
ดิษนีย์ นาคเจริญ

พฤติกรรมผู้บริโภคที่ (จะ) เปลี่ยนไป และการเข้ามาของผู้แข่งหน้าใหม่จากดิจิทัลดิสรัปชั่น ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงองค์กรเตรียมความพร้อมรับมือกับสิ่งที่ (คาดว่า) จะเกิดขึ้นแน่ ๆ ไม่ช้าก็เร็วไม่เกี่ยวกับโควิด แต่โควิดเป็นตัวเร่งที่ทรงพลัง

ธุรกิจสื่อได้รับผลกระทบจาก “โซเชียลมีเดีย” ค้าปลีกจาก “อีคอมเมิร์ซ” ธุรกิจสื่อสารที่แม้จะคุ้นกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ก็ยังหวั่นเกรงพลังของ “OTT”

เพราะ “ความสำเร็จเดิม ไม่การันตีอนาคต”

“เอไอเอส” จึงขยับไปลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ สร้างวัฒนธรรมองค์กรจาก find U สู่ fit fun fair ปรับโครงสร้างการทำงาน และผลตอบแทน เข้าประมูลคลื่น 5G เมื่อต้นปี ทำให้ในปีที่ 30 กลายเป็นบริษัทที่มีคลื่นมากที่สุด นับเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เข้าสู่ธุรกิจนี้ ที่ “ความถี่” ไม่ใช่ข้อจำกัดอีกต่อไป

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ซีอีโอ เอไอเอส ประกาศตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งว่าต้องการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ “ดิจิทัลไลฟ์ เซอร์วิส โพรไวเดอร์” ทำไปหลายอย่างตลอด 6 ปี แต่ยังถือว่าทำได้แค่ครึ่งเดียวจากที่ตั้งใจไว้จึงมีภารกิจอีกมากในช่วง 2 ปีก่อนหมดวาระซีอีโอ

Advertisment

วิกฤต “โควิด” ล่าสุดยังย้ำให้เห็นชัดว่า การเตรียมองค์กรให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงสำคัญแค่ไหน

ธุรกิจธนาคารก็ไม่ต่างกัน “ธนาคารจะไปอยู่ทุกที่ ยกเว้นที่ธนาคาร” เป็นจริงขึ้นเรื่อย ๆ

ธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) ลุกขึ้นมาปรับองค์กร เดินหน้ากลยุทธ์ “กลับหัวตีลังกา” เปลี่ยนแนวคิด และกระบวนการทำงาน กับเป้าหมายที่จะพัฒนาบริการการเงินไปสู่การเป็น “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ที่สำคัญกับชีวิตประจำวันของลูกค้าทุกกลุ่ม

พลิกวิกฤต “โควิด” เป็นโอกาสผลักดันยุทธศาสตร์”เอสซีบี นิวนอร์มอล” ก้าวข้ามพรมแดนธุรกิจธนาคารมายัง “ฟู้ดดีลิเวอรี่” พร้อมนโยบาย work from anywhere

Advertisment

“โรบินฮู้ด” ในตำนานเป็นจอมโจรใจดีปล้นคนรวยมาช่วยคนจน ส่วน “โรบินฮู้ด” แพลตฟอร์มของ “เอสซีบี” เป็น “แอปส่งอาหารเพื่อคนตัวเล็ก” ไม่คิดค่าธรรมเนียมการใช้(จีพี) โอนเงินให้ร้านค้าใน 1 ชั่วโมง ต่างจากแอปอื่นที่รอเป็นอาทิตย์หรือข้ามเดือนก็มี

โดยสร้างระบบชำระเงินเป็น “ดิจิทัลเพย์เมนต์” 100% เพื่อให้คนส่งอาหาร (ไรเดอร์) ไม่ต้องสำรองเงินจ่ายค่าอาหารให้ลูกค้า เพราะเข้าใจดีว่า cash is king สำคัญกับธุรกิจเล็ก และคนตัวเล็กแค่ไหน

บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือเอสซีบี ผู้ดูแล “โรบินฮู้ด” เริ่มให้ทดลองใช้งานแล้ว ตั้งแต่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา

“ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิลเวนเจอร์ส จำกัด บอกว่า เคพีไอของโรบินฮู้ด ไม่ได้อยู่ที่ “รายได้” แต่คือการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างร้านเล็ก ๆ กับลูกค้าช่วยให้ร้านมีรายได้เพิ่มจากการขายผ่านแพลตฟอร์มส่งอาหาร ลูกค้ามีความสุขจากการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพในปริมาณที่ไม่ต่างจากนั่งทานในร้าน

“หลายร้านเป็นร้านเล็ก ๆ ที่อร่อยและมีเสน่ห์แต่ไม่สามารถจ่ายค่าจีพีได้จึงไม่เคยอยู่บนแพลตฟอร์มไหนมาก่อน เมื่อเปิดแล้วก็น่าจะมีร้านอร่อยเล็ก ๆ ใกล้บ้านเข้ามาในระบบอีกมาก คาดว่าในสิ้นปีจะมีถึง 2 หมื่นร้านค้า”

จุดเด่นอีกอย่างคือการเพิ่มโอกาสในการขายให้ร้านค้า นอกช่วงเวลาขายดี (off-peak) ผ่านการทำ dynamic delivery pricing กระตุ้นยอดด้วย “ค่าส่ง” ที่โดนใจ ที่ให้ “ร้านค้า” เข้าร่วมให้ส่วนลด 8% กับลูกค้าโดยตรง

ใน 3 ปีแรก “เอสซีบี” จะใส่เงินให้ปีละ 150 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้ไปกับการพัฒนาระบบไอที, คน และชดเชยค่าส่งบางส่วน รวมถึงการตลาด

“โรบินฮู้ด” ย้ำสิ่งที่ “อาทิตย์ นันทวิทยา” ซีอีโอเอสซีบี พูดถึงยุทธศาสตร์ “เอสซีบี นิวนอร์มอล” ที่ว่าเป็นการมองความสำเร็จที่มากกว่าผลตอบแทนทางธุรกิจ คือการสร้างวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ที่กล้าลองผิดลองถูก ที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการนำพาองค์กรฝ่าคลื่นการเปลี่ยนแปลงให้แข่งขันได้ในทุกสนามและรับมือได้ ไม่ว่าจะเผชิญกับวิกฤตใด