นับหนึ่งแก้กติกาประเทศไทย

ชายโบบกธงชาติไทย บริเวณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP
บทบรรณาธิการ

ผลโหวตรับไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับของรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ออกมาไม่ผิดความคาดหมาย มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแค่ 2 ฉบับที่รัฐสภาเห็นชอบรับหลักการ ได้แก่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาล ที่เหลืออีก 5 ร่างถูกตีตก

ขั้นตอนต่อจากนี้ไปที่ประชุมรัฐสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ 45 คน แบ่งเป็น ส.ส. 30 คน และ ส.ว. 15 คน ขึ้นพิจารณากำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน ซึ่งจะใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรครัฐบาลเป็นหลัก โดยนัดประชุมนัดแรกวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งในการปรับแก้ไขกฎหมายสูงสุด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

อย่างน้อยจะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังร้อนระอุให้เย็นลงบ้าง แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของไอลอว์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรพยายามผลักดันจะแท้งตั้งแต่ไม่ทันได้ตั้งไข่ แต่ทำให้หลายภาคส่วนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงื่อนปมข้อกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถูกเขียนล็อกไว้ไม่ให้ปรับแก้ไขทั้งฉบับ หรือแก้ไขได้ยาก

ขณะเดียวกัน เมื่อเงื่อนไขที่นำมาซึ่งความขัดแย้งถูกนำเข้ากระบวนการรัฐสภา น่าจะเป็นโอกาสดีที่หลายฝ่ายจะได้ร่วมถกระดมสมองปรับเปลี่ยนกติกาประเทศใหม่ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น แม้เป็นการปรับแก้บางมาตราไม่ใช่ทั้งหมด แต่จะลดประเด็นปัญหาที่หลายฝ่ายเห็นสอดคล้องตรงกันว่าต้องเร่งแก้

โดยเฉพาะการแก้ล็อกระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้เป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักทั้งในแวดวงวิชาการ นักการเมือง ว่าไม่สะท้อนเสียงประชาชน นอกจากนี้ ความยุ่งยากซับซ้อนของระบบการเลือกตั้ง วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคการเมือง ทำให้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีปัญหาข้อโต้แย้งสารพัด บั่นทอนความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้อยู่ที่สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.-ส.ว. ว่าจะมีความจริงใจและมีเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะแก้วิกฤตการเมือง หาทางออกให้กับประเทศมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าใช้วิธีดึงเกมยื้อเวลาเพื่อสนองผลประโยชน์อำนาจของพวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงบ้านเมือง เท่ากับสุมไฟเติมฟืน ซ้ำเติมเศรษฐกิจ สังคมให้วิกฤตรุนแรงขึ้นอีก

การเดินหน้าแก้กฎกติกาประเทศในรัฐสภาเริ่มนับหนึ่ง แม้เหมือนจะเริ่มต้นก้าวข้ามความขัดแย้งสู่สามัคคีปรองดอง แต่หากเงื่อนปมลึกไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ถอยคนละก้าว ข้อพิพาทขัดแย้ง คิดต่างมองต่างทางการเมืองจะกลับมาคุกรุ่น เป็นระเบิดเวลารอปะทุ