คนไทยไหวมั้ย ตุนเสบียงรอ 2 ปีฟื้น

คน เดิน หน้ากาก
by Romeo GACAD / AFP
คอลัมน์ สามัญสำนึก
สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

แม้ว่าต้นสัปดาห์ทางสภาพัฒน์จะประกาศตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 3 อยู่ที่ -6.4% ดีขึ้นจากไตรมาส 2 ที่หดตัว -12.1% ทั้งได้ปรับประมาณการปีนี้หดตัว -6% จากคาดการณ์เดิม -7.5%

ดูเหมือนมีสัญญาณดีขึ้น แต่ก็เป็นเพียงการเติบโต “ตัวเลขจีดีพี” เช่นที่ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ที่ตอกย้ำในหลายเวทีว่า โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดโควิด-19 ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี

ที่สำคัญการฟื้นตัวในแง่ของตัวเลขซึ่งไม่ได้หมายความว่ารูปแบบหรือความรู้สึกของคนจะกลับเป็นเหมือนเดิม และเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น

ผู้ว่าการแบงก์ชาติย้ำว่า วิกฤตครั้งนี้กระทบรากหญ้าและครัวเรือนมาก ในขณะที่ “หนี้ครัวเรือน” อยู่ในระดับสูง และสิ่งที่ประชาชนเผชิญคือ “ขาดรายได้” “ว่างงาน” ทำให้ภาระหนี้ที่แบกไว้ยิ่งหนักขึ้น

“แม้การส่งออกจะเริ่มฟื้นตัว แต่ไม่ได้มีนัยต่อการจ้างงานมาก เพราะ 3 อุตสาหกรรมหลักคือ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี และยานยนต์รวม 50% ของมูลค่าส่งออก แต่มีการจ้างงานไม่ถึง 4% ของการจ้างงาน”

ผู้ว่าการแบงก์ชาติระบุว่า ภาคท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีสัดส่วนจ้างงานถึง 20% ของการจ้างงานทั้งประเทศ เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สร้างรายได้คิดเป็น 11-12% ของจีดีพี ยังอยู่ใน “หลุมลึก” ปัญหา “คนว่างงาน” จะยังทับถมต่อไป

Advertisment

ดังนั้นแม้ส่งออกจะฟื้นตัว แต่ปัญหาแรงงานไม่ได้ลดลง เพราะการจ้างงานต่ำ รวมถึงธุรกิจต่าง ๆ ที่เร่งปรับโครงสร้างบริหารจัดการลดต้นทุนเพื่อประคองตัว สำหรับการอยู่ในสภาพเศรษฐกิจที่หดตัวยาวนาน 2-3 ปี

แผนจัดการลดต้นทุน เพื่อความอยู่รอดขององค์กรต่าง ๆ นำพามาซึ่งการลดเงินเดือน ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงลดคน

Advertisment

ขณะที่ประชาชนบางส่วน “ตกงาน” ไปแล้ว อีกจำนวนมากที่ถูกลดชั่วโมงทำงาน ที่แบงก์ชาติระบุว่า เป็น “บุคคลเสมือนว่างงาน” เพราะทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน อีก 2-3 ล้านคน และจะมีจำนวนเพิ่มอีกเท่าไหร่

สถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนจะมีความสามารถ “ตุนเสบียง” สำหรับการใช้ชีวิตเพื่อรอคอยการกลับมาของเศรษฐกิจในอีก 2 ปีข้างหน้าได้หรือไม่

หลายคนที่มีการ “เก็บออม” ไว้บ้าง อาจจะ “อึด-ทน” ได้

แต่มนุษย์ยุคดิจิทัลส่วนใหญ่สะสมแต่หนี้จะรับมือกับวิกฤตนี้อย่างไร ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมจากนี้จะเป็นเช่นไร

แม้ว่ารัฐบาลจะดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือการที่ประชาชนมีงานทำ สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้

มาตรการจ้างงาน ประคองการจ้างงาน น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องขับเคลื่อนออกมาให้ชัดเจน เพราะมาตรการจ้างงาน 1 ล้านคนของรัฐบาล

ล่าสุด ที่ประชุม ศบศ.เมื่อ 18 พ.ย.ระบุว่า เดือน ต.ค.มีการจ้างงาน 1.91 แสนตำแหน่ง ภาครัฐ 1.24 แสนตำแหน่ง เอกชน 4.33 หมื่นตำแหน่ง ขณะที่ตัวเลขคนตกงานเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนคน และคนเสมือนว่างงานอีก 2-3 ล้านคน ยังไม่รวมบัณฑิตจบใหม่อีก 4 แสนคน

นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งจัดการ รวมถึงการวางแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่หลังโควิดจะทำอย่างไร
เมื่อแรงงาน 20% ของประเทศในธุรกิจท่องเที่ยว ที่มีการลงทุนทรัพยากรเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคนต่อปี

แต่ปีนี้มาไม่ถึง 8 ล้านคน และปีหน้าคงยังไม่กลับมา และไม่แน่ใจว่าแม้จะมีวัคซีน โอกาสการท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ แล้วทรัพยากรต่าง ๆ ที่เป็นส่วนเกินจะทำอย่างไร

ขณะที่สถาบันการเงินเสนอตั้ง “แวร์เฮาซิ่ง” เหมือน “โกดังเก็บหนี้” นำสินทรัพย์มาแช่แข็งในช่วงที่เศรษฐกิจยังอยู่ในหลุม

แต่ “คน” ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจำนวนมากจะทำอย่างไร เพราะไม่สามารถเก็บเข้าโกดังได้

แค่อยากได้ยินว่า สิ่งที่รัฐบาล ผู้บริหารประเทศ ผู้เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร