บทเรียนจากโควิด และสิ่งที่สำคัญกว่า

คอลัมน์ สามัญสำนึก 
ดิษนีย์ นาคเจริญ

วิกฤตโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น เมื่อเป็นสิ่งใหม่ และเจอเหมือนกันทั้งโลก ผลกระทบย่อมมาก ทำให้การรับมือไม่ง่าย แต่ก็เป็นเช่นกันกับทุกวิกฤตที่มักมีโอกาสใหม่ ๆ มาพร้อมกัน และคนที่ปรับตัวได้เร็ว ย่อมมีโอกาสมากกว่า

ถ้าถามนักธุรกิจทั้งใหญ่ และเล็กที่ต่างเคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้ว จะได้คำแนะนำเดียวกัน คือ “cash is king” ต้องรีบคิดให้ออกว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะอยู่รอด ต้องวางแผน และทำตัวให้ “เบาที่สุด”

ท่าพื้นฐานคงหนีไม่พ้น การตัดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น เคลียร์สต๊อกออกไปให้เร็วที่สุดเพื่อตุน “เงินสด” แม้ต้องขายขาดทุนก็อาจจำเป็นต้องยอม ใครที่มีภาระหนี้สินกับแบงก์ควรรีบเจรจาโดยเร็ว

“คลาสคาเฟ่” (Class Cafe) สตาร์ตอัพร้านกาแฟที่เคยเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ๆ ก่อนวิกฤตโควิด-19 เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ปรับตนเองได้อย่างรวดเร็ว

โดยทำทุกสิ่งเพื่อรักษากระแสเงินสด ตั้งแต่ไปเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ทั้งธนาคาร, เจ้าของที่เช่า หรือแม้กระทั่งค่าไฟฟ้า ปิดสาขาเกือบครึ่ง (ในช่วงล็อกดาวน์) ปรับทีม ปรับโปรดักต์ใหม่จากเคยขายเป็น “แก้ว” มาขายเป็น “ขวด” ปรับวิธีการขาย และช่องทางการขายใหม่ ๆ ทั้งโกดิจิทัล และผ่านช่องทางดั้งเดิมอย่าง “รถพุ่มพวง” ก็ทำมาแล้ว

ไม่ใช่แค่นั้น “มารุต ชุ่มขุนทด” ซีอีโอคลาสคาเฟ่ บอกว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจของคลาสคาเฟ่จากนี้จะมุ่งไปสู่การเป็น “open coffee platform” คือทำตัวเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง พร้อมให้ธุรกิจอื่นมาร่วมมือหรือเชื่อมต่อได้

ไม่จำกัดตนเองอยู่แต่ในธุรกิจกาแฟอีกต่อไป ทุกวันนี้ “คลาสคาเฟ่” ไม่ได้ขายแค่ “กาแฟ” แต่ขยายไลน์โปรดักต์ไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมาย

สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่มี “โควิด-19”

โปรดักต์ใหม่ที่มีให้เห็นแล้วก็เช่น น้ำผลไม้สกัดเย็น, โยเกิร์ต และเบเกอรี่ต่าง ๆ ทำให้นำสินค้าไปวางขายในร้านอื่น ๆ ได้ เช่น ร้านกาแฟอินทนิล นอกจากเพิ่มโอกาสในการขายแล้ว ยังเปลี่ยน “คู่แข่ง” ให้กลายมาเป็น “คู่ค้า” ได้พร้อมกัน

บนแอปพลิเคชั่น CLASS CAFE ยังไม่ได้ขายแต่เครื่องดื่มหรือเบเกอรี่ แต่ขยับขยายไปขายสินค้าอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น หูฟัง, ลู่วิ่ง หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความสวยความงาม

เรียกได้ว่าเปลี่ยนตัวเองแบบ 360 องศา

ความยืดหยุ่นจึงสำคัญมาก

“ซีอีโอคลาส” ย้ำว่า ตอนเริ่มต้นเราอาจเริ่มทำธุรกิจจากสิ่งหนึ่ง แต่สุดท้ายอาจต้องไปทำอีกสิ่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการทำธุรกิจต้องมีความยืดหยุ่น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าไม่ว่าจะเจอปัญหาใด ต้องไม่ท้อ และไม่ลืมเปลี่ยน “วิกฤต” ให้เป็น “โอกาส”

ไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะจบลงเมื่อไร จึงต้องทำตัวให้พร้อมปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ซึ่งใช้ได้กับทั้งเรื่องธุรกิจ และชีวิต ทั้งในยามวิกฤต และไม่วิกฤต

โควิด-19 มาเตือนพวกเราทุกคนให้ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการเงินทอง และที่สำคัญ คือการดูแลรักษาสุขภาพ

ว่ากันว่าสิ่งที่สำคัญกว่าเงินทอง คือ สิ่งที่ “เงิน” ซื้อไม่ได้ นั่นคือ สุขภาพ ความสัมพันธ์ ครอบครัว ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความจริงใจ และความซื่อสัตย์ ซึ่งทั้งหมดต้องสร้างด้วยตัวเรา

“สุขภาพ” อาจสำคัญกว่า “ความมั่งคั่ง”

เหมือนที่ อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เคยบอกกับ “ตูน บอดี้สแลม” ในวันที่เขาล้มป่วยก่อนขึ้นคอนเสิร์ตว่า ให้ดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีก่อน

เพราะ “สุขภาพ” เปรียบได้กับเลข 1 ถ้าสุขภาพดีก็จะสามารถหา “0” มาเติมอีกกี่ตัวก็ได้ แต่ถ้าไม่มี เลข 1 จะมี 0 กี่ตัว ก็ไม่มีความหมาย จงใช้วิกฤตเป็นบทเรียนจัดลำดับสิ่งที่สำคัญกว่าที่เงินซื้อไม่ได้