ญี่ปุ่นคุมเข้มสินค้าประมง ตรวจสอบการนำเข้า-การกระจายสินค้า

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว

ญี่ปุ่นประสบปัญหาการลักลอบจับสัตว์น้ำอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการจับสัตว์น้ำเกินปริมาณที่เหมาะสม โดยส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและการทำมาหากินของชาวประมง ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าในปี 2561 มีการจับกุมผู้ลักลอบจับสัตว์น้ำ 1,484 ราย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลิงทะเลและหอยเป๋าฮื้อซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นในฐานะประเทศผู้นำเข้าสินค้าประมงรายใหญ่ของโลกจำเป็นต้องกำหนดมาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ในระดับสากล ซึ่งบางประเทศ เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีการดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว

เพื่อป้องกันสินค้าประมงที่จับอย่างผิดกฎหมาย วางจำหน่ายในตลาดประเทศญี่ปุ่น เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าประมงที่จับอย่างผิดกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหา IUU ในระดับสากล ทางการญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายควบคุมการกระจายสินค้าในประเทศและการนำเข้าสินค้าประมงประเทศญี่ปุ่น (The Act on Ensuring the Proper Domestic Distribution and Importation of Specified Aquatic Animals and Plants)

สาระสำคัญของกฎหมาย

1.การกำหนดสัตว์น้ำประเภทที่ 1 และ 2 ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปสัตว์น้ำประเภทที่ 1 หมายถึงสัตว์น้ำที่กำหนดตามประกาศกฎกระทรวงเกษตรฯญี่ปุ่น โดยเป็นสัตว์น้ำที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะมีการจับอย่างผิดกฎหมายหรือจับเกินปริมาณในประเทศญี่ปุ่น (ยกเว้นสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงต่างประเทศ) และสัตว์น้ำที่มีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมและอนุรักษ์ทรัพยากร ทั้งนี้ ให้หมายรวมสินค้าแปรรูปด้วย

สัตว์น้ำประเภทที่ 2 หมายถึงสัตว์น้ำที่กำหนดตามประกาศกฎกระทรวงเกษตรฯญี่ปุ่น โดยเป็นสัตว์น้ำที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะมีการจับอย่างผิดกฎหมายในต่างประเทศ โดยเรือประมงต่างประเทศ และสัตว์น้ำที่มีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมการนำเข้าด้วยเหตุผลความจำเป็นในการดูแลรักษาทรัพยากรประมงในเชิงสากล ทั้งนี้ ให้หมายรวมถึงสินค้าแปรรูปด้วย

Advertisment

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯญี่ปุ่นยังไม่มีการกำหนดชนิดของสัตว์น้ำประเภทที่ 1 และ 2 โดยทบวงประมง (Fisheries Agency of Japan : JFA) จะดำเนินการจัดทำรายละเอียด พร้อมทั้งแจ้งเวียน WTO/TBT ต่อไป โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีหลังจากนี้

2.ผู้ที่ประกอบกิจการจับหรือเกี่ยวข้องกับการส่งมอบสัตว์น้ำประเภทที่ 1 จะต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานราชการ และในการส่งมอบจะต้องแจ้งข้อมูลที่ได้รับแจ้งตอนขึ้นทะเบียน เช่น หมายเลขการจับ

3.ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำประเภทที่ 1 เช่น ผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้จับหรือส่งมอบ ผู้ซื้ออันดับแรก ผู้กระจาย สินค้า ผู้แปรรูป จะต้องมีการแชร์ข้อมูลร่วมกัน เช่น ชื่อ และหมายเลขการจับ

4.ผู้ประกอบการที่ใช้สัตว์น้ำประเภทที่ 1 จะต้องจัดทำบันทึกและเก็บรักษา ซึ่งครอบคลุมรายละเอียด เช่น ชื่อ น้ำหนัก จำนวน วันที่ และหมายเลขการจับ

Advertisment

5.ในการส่งออกสัตว์น้ำประเภทที่ 1 จากประเทศญี่ปุ่น จะต้องแนบเอกสารใบรับรองการจับอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

6.ในการนำเข้าสัตว์ประเภทที่ 2 จากต่างประเทศ จะต้องแนบเอกสารใบรับรองการจับอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งออกโดยรัฐบาลประเทศต้นทาง โดยแสดง ณ ด่านศุลกากรในการนำเข้า ทั้งนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นการกำหนดแนวทางในภาพกว้าง ยังไม่มีการระบุรายละเอียด โดยจากนี้ไป JFA จะจัดทำรายละเอียด แนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน และวิธีการแสดงหรือจัดส่งใบรับรอง ซึ่งรวมถึงนิยามของสินค้าแปรรูป แนวทางการปฏิบัติกรณีนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ 3 และส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น แบบฟอร์มของใบรับรอง ระบบการจัดส่งใบรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

ช่วงเวลาที่มีผลบังคับใช้

กฎหมายฉบับดังกล่าวลงเผยแพร่ในกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ภายในระยะเวลา 2 ปี หรือประมาณเดือนธันวาคม 2565 โดยจากนี้ไป JFA จะจัดทำรายละเอียดเพื่อออกกฎหมายระดับรองและประกาศในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผลกระทบต่อประเทศไทย

1.ในแง่ของการส่งออกสินค้าประมงจากประเทศไทยไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสินค้าหลักในปัจจุบัน ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งแปรรูป ฯลฯ ประเทศไทยจำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสารใบรับรองตามที่ญี่ปุ่นกำหนด อย่างไรก็ตาม JFA ยืนยันว่าจะกำหนดรายละเอียดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นที่มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวอยู่ก่อนหน้านี้ เช่น EU

2.ในแง่ของการนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าปลาทูน่า ปลาซาบะ ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน หอยเชลล์ ฯลฯ เป็นจำนวนมาก การออกกฎหมายในครั้งนี้คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกสินค้าประมงของประเทศญี่ปุ่น