สร้างโอกาสธุรกิจ SMEs เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ธุรกิจ-smes
แฟ้มภาพ
คอลัมน์ ช่วยกันคิด
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ได้รับแจ้งจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้เร่งสนองนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยให้ดำเนินการตามแนวทางที่กรมบัญชีกลางได้ออกกฎกระทรวงกําหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563

โดยกฎกระทรวงกําหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้ขึ้นบัญชีรายการพัสดุและบัญชีรายชื่อไว้กับสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ตามแนวทางปฏิบัติดังนี้

1.กรณีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือก : กําหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการ และสินค้า หรือบริการของ SMEs ที่ สสว.ได้ขึ้นบัญชีไว้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชี

รายชื่อผู้ประกอบการ SMEs โดยให้หน่วยงานของรัฐ ดําเนินการดังนี้

(1) พิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดของหน่วยงานของรัฐก่อนเป็นลําดับแรก (list จังหวัด) หากมีผู้ประกอบการ SMEs ไม่น้อยกว่า 3 ราย ให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือกจากรายชื่อที่อยู่ในบัญชีนั้น

Advertisment

(2) หากมีผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่จังหวัด น้อยกว่า 3 ราย ให้พิจารณาจากบัญชีรายชื่อที่ สสว.ขึ้นบัญชีไว้ทั้งหมด (3) หากไม่มีรายชื่อผู้ประกอบการ SMEs ตาม (1) และข้อ (2) ให้จัดซื้อจัดจ้างตามวิธีการที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

2.กรณีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) : ให้แต้มต่อด้านราคาแก่ SMEs ร้อยละ 10 หากผู้เสนอราคาเป็น SMEs ตามบัญชีรายชื่อที่ สสว.ได้ขึ้นบัญชีไว้ สามารถเสนอราคาได้สูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้เสนอราคารายอื่นไม่เกินร้อยละ 10 โดยระบบ e-GP จะคํานวณคะแนนให้อัตโนมัติ

โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ขึ้นทะเบียนสินค้า/บริการ ไว้ที่ thaismegp.com ที่คุณสมบัติเป็นไปตามนิยาม SMEs ที่ สสว.กําหนด โดยพิจารณาจากเกณฑ์รายได้เท่านั้น ประกอบด้วย

ภาคการผลิตต้องเป็นวิสาหกิจขนาดย่อม (micro) รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดย่อม (small) รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท และวิสาหกิจขนาดกลาง (medium) รายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท

Advertisment

ภาคการค้าและบริการ วิสาหกิจขนาดย่อม (micro) รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดย่อม (small) รายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท และวิสาหกิจขนาดกลาง (medium) รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท

ประเภทธุรกิจ ผู้ประกอบการนิติบุคคล และผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนพาณิชย์ หรือได้รับการจดทะเบียนจากหน่วยงานราชการตามที่กฎหมายกําหนด เช่น วิสาหกิจชุมชน ที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร

หลักฐานประกอบการพิจารณาเอกสารการจัดตั้งธุรกิจ กรณีเป็นนิติบุคคล คือ สําเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กระทรวงพาณิชย์ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน) บุคคลธรรมดา ใช้ทะเบียนพาณิชย์ หรือหลักฐานการจดทะเบียนกับหน่วยงานราชการ เอกสารแสดงรายได้ (เพื่อพิจารณาความเป็น SMEs) หากเป็นนิติบุคคลต้องแสดงงบการเงินปีล่าสุด กรณีเป็นบุคคลธรรมดา ใช้เอกสารหรือหลักฐานแสดงรายได้ เช่น แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ต้องดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว คือ การดำเนินการซื้อ จ้าง เช่า แลกเปลี่ยน ฯลฯ ของส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ งานก่อสร้าง งานจ้างที่ปรึกษาและงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง ฯลฯ โดยต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดประเภทการจัดซื้อจัดจ้างหลัก ๆ ไว้ 3 ประเภท ได้แก่

(1) การจัดซื้อจัดจ้างทั่วไป มีวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไว้ 3 วิธี คือ วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป วิธีคัดเลือก และวิธีเฉพาะเจาะจง

(2) การจ้างที่ปรึกษา มีวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไว้ 3 วิธี คือ วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป วิธีคัดเลือก และวิธีเฉพาะเจาะจง

(3) การจ้างออกแบบหรือควบคุมงาน มีวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไว้ 4 วิธี คือ วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป วิธีคัดเลือก วิธีเฉพาะเจาะจง และวิธีประกวดแบบ

โดยการจัดซื้อจัดจ้างแต่ละวิธีมุ่งเน้นให้การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานภาครัฐ เกิดความโปร่งใส คุ้มค่า มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและตรวจสอบได้