จุดพลุ ‘ตั๋วร่วม’ 600 ล้าน การลงทุนที่สูญเปล่า

ชัน 5 ประชาชาติธุรกิจ
ประเสริฐ จารึก

บรรยากาศจับจ่ายคึกคักทั่วไทย จากมาตรการคนละครึ่ง เราชนะ ม.33 เรารักกัน ทำให้คนซื้อ-คนขาย ซื้อง่ายขายคล่องกันมากขึ้น

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐบาลนำมาพยุงเศรษฐกิจ อาจจะส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินและการคลังของประเทศ

ล่าสุด “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี กำชับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา “ให้ใช้งบประมาณอย่างระมัดระวัง และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานะการเงิน อยู่ในสภาวการณ์ปกติ ยังไม่มีปัญหา”

หลังสำนักงบประมาณรายงานสถานะการเงินและการคลัง ประจำปี 2564 ที่จัดเก็บรายได้เข้าคลังได้น้อยกว่าทุกปี โดยคณะรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการคลังพิจารณาศึกษารายละเอียดถึงการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศ

จากข้อสั่งการของ “พลเอกประยุทธ์” ให้ใช้งบประมาณอย่างระมัดระวัง ทำให้นึกถึงโครงการพัฒนา “ระบบตั๋วร่วม” ของกระทรวงคมนาคมไม่ได้

เนื่องจากรัฐบาลนำเงินงบประมาณที่ได้มาจากภาษีของประชาชนกว่า 600 ล้านบาท จ้างบริษัทที่ปรึกษา 301 ล้านบาท และเซตระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง 337 ล้านบาท หวังจุดพลุระบบตั๋วร่วมของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ

โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นเจ้าภาพผลักดันโครงการก่อนจะส่งไม้ต่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการเมื่อปี 2560

แต่สุดท้ายกลายเป็นโปรเจ็กต์ที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เมื่อระบบที่เซตไว้กลายเป็นซากเศษขยะกองอยู่ที่ รฟม. เนื่องจากไม่สามารถนำมาใช้การได้

เส้นทางการพัฒนา “ระบบตั๋วร่วม” ผลักดันมาร่วม 14 ปี นับจากปี 2550 สมัยรัฐบาล คมช.ดึงผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้า 2 ค่าย บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) ปรับปรุงระบบให้รองรับกันได้ แต่ก็ไม่สำเร็จ

โครงการเริ่มผลักดันจริงจังช่วงปี 2554-2555 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการให้ สนข.ดำเนินโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง และอนุมัติงบประมาณ 409 ล้านบาท สำหรับเซตระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง มีกลุ่ม BTSC ร่วมกับสมาร์ททราฟฟิค และวิกซ์ โมบิลิตี้ เป็นผู้พัฒนาระบบให้จนทดสอบระบบแล้วเสร็จในปี 2559 โดยออกแบบใช้กับ “บัตรแมงมุม” ที่ผลิตออกสู่ตลาด 2 แสนใบ

แต่เพื่อไม่ให้เสียของ รฟม.ซึ่งรับหน้าเสื่อเป็นผู้พัฒนาระบบตั๋วร่วม ได้อัพเกรดบัตรแมงมุมเป็นบัตร MRT Plus ใช้กับสายสีน้ำเงิน สีม่วง และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก่อนจะพัฒนาไปสู่ระบบเทคโนโลยี “บัตร EMV” ที่ใช้บัตรเครดิตและเดบิตจ่ายค่าบริการรถไฟฟ้า รถเมล์ ทางด่วน เรือ และร้านค้าในระยะยาว มีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้เสนอตัวจะลงทุนให้

กว่าจะเปลี่ยนผ่านไปถึงจุดนั้นต้องใช้เวลาร่วม 2 ปี ระหว่างทาง “กระทรวงคมนาคม” มีไอเดียพัฒนาระบบตั๋วร่วมระยะเร่งด่วนด้วยการใช้บัตรโดยสารที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบัตรแรบบิท 12 ล้านใบ บัตร MRT และ MRT Plus 2 ล้านใบ ให้แตะข้ามระบบกันได้โดยมี MOU ความร่วมมือระหว่าง สนข. กทม. BTS และ BEM เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563

ทั้ง BTS และ BEM ต้องลงทุนปรับปรุงระบบให้รับบัตรโดยสารของกันและกันได้ โดย BTS มีค่าใช้จ่าย 120 ล้านบาท ฝั่ง BEM ลงทุน 241 ล้านบาท ปรับปรุงสายสีน้ำเงิน และสีม่วง

งานนี้ “กระทรวงคมนาคม” ตั้งเป้าจะเริ่มใช้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีน้ำเงิน สีม่วง ตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว แต่เจอโรคเลื่อนจนถึงปัจจุบันยังไร้วี่แววที่จะกดปุ่มคิกออฟ

ปัญหาติดหล่มอยู่ตรงไหน และติดอยู่ที่ใครถึงทำให้ระบบตั๋วร่วมที่แปลงกายมาหลายเวอร์ชั่นไปไม่ถึงหมุดหมาย งานนี้คมนาคมน่าจะรู้ดีที่สุด แต่คงเดาได้ไม่ยากเพราะประเทศไทยก็มีอยู่แค่ 2 ค่ายนั่นคือ BTS กับ BEM

สาเหตุที่ช้าส่วนหนึ่งติดโควิด ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาไม่ได้ แต่บางกระแสว่ากันว่าโควิดเป็นเพียงข้ออ้าง แต่ว่ากันว่าเบื้องหลังจริง ๆ เกิดจากเอกชนรายหนึ่งที่ไม่ยอมลงทุนเอง แต่จะให้หน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเป็นผู้ลงทุนแทน และอยากจะข้ามชอตไปที่ “ระบบ EMV” ที่มีธนาคารกรุงไทยดำเนินการให้ในคราวเดียว จึงทำให้ระบบตั๋วร่วมเฟสเร่งด่วนเวอร์ชั่นแตะข้ามระบบถึงล่มกลางคัน

สงสารก็แต่เอกชนอีกรายที่ลงทุนพัฒนาระบบจนเสร็จพร้อมใช้แล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถจะนำบัตรของตัวเองไปใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าอีก 2 สายได้

นับเป็นอีกโครงการที่รัฐเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์ ถึงมูลค่าจะไม่เป็นหลักหมื่นล้าน แสนล้าน แต่ทุกบาททุกสตางค์มาจากภาษีของประชาชน

“ระบบตั๋วร่วม” น่าจะเป็นบทเรียนสะท้อนถึงความล้มเหลวเชิงนโยบายที่ไม่นิ่ง ปรับเปลี่ยนไปมาเพราะความไม่เข้าใจหลักการที่แท้จริง

เพราะ “ตั๋วร่วม” จะเกิดได้ต้องเริ่มต้นจากความยินยอมพร้อมใจของผู้ประกอบการ หากไม่มีความจริงใจ

ต่อให้รัฐออกแรงผลักดันสักแค่ไหนก็ไม่สำเร็จ เป็นได้แค่โปรเจ็กต์ขายฝัน !