พิการเพียงร่างกายใช่จิตใจ

ชั้น 5 ประชาชาติ
สาโรจน์ มณีรัตน์

ต้องยอมรับว่าระยะหลัง ๆ หลายองค์กรเริ่มรับคนพิการเข้ามาทำงานกับพนักงานปกติเพิ่มขึ้น ทั้งนั้น อาจเป็นเพราะสังคมเปิดกว้างและยอมรับคนพิการมากขึ้น เห็นได้จากมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างพาราลิมปิกเกมส์ ที่คนพิการสามารถวิ่งแข่ง, ว่ายน้ำ, กระโดดไกล, ฟันดาบ และอื่น ๆ อีกมากมาย

จนบางคนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนปกติที่ดีพร้อมทุกอย่างเสียด้วย

ไม่ต้องถามว่าทำไมเขาถึงสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ?

เพราะคำตอบรู้กันอยู่แล้วว่า เขาและเธอเหล่านั้นนอกจากจะไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เขายังอยากที่จะมีที่อยู่ที่ยืนเพื่อให้คนปกติยอมรับ

ยอมรับว่าทำได้

ยอมรับว่าเขาและเธอไม่ได้แตกต่างไปจากคนปกติทั่วไป ที่สำคัญ เขาและเธอไม่อยากให้ใครรู้สึกสงสาร สมเพช หรือพลอยรังเกียจไปกับความพิการของเขา ผลเช่นนี้ จึงทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อคนพิการค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้บริการสาธารณูปโภค รวมไปถึงสิทธิและโอกาสในการทำงานด้านต่าง ๆ ด้วย

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันมีหลายองค์กรเริ่มรับคนพิการเข้ามาทำงานมากขึ้น เหมือนอย่างในอดีตที่แผนกคอลเซ็นเตอร์ของค่ายมือถือแห่งหนึ่ง เคยรับคนพิการทางสายตา หรือพิการทางร่างกายเข้าทำงาน รวมถึงท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, เพาเวอร์บาย และห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ก็รับคนพิการเข้าทำงานเช่นกัน ทั้งในส่วนของพนักงานจัดวางสินค้า, แก้ไข ซ่อม เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่น ๆ

หรือแดรี่ควีน ก็เคยรับคนพิการทางการได้ยินมารับออร์เดอร์ลูกค้า โดยทำเมนูเฉพาะเพื่อให้ลูกค้าชี้สินค้าที่ต้องการ

ฉะนั้น จะเห็นว่าการรับคนพิการเข้าทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพิการทางสายตา พิการแขน ขา หรือพิการทางการได้ยิน จริง ๆ แล้วสามารถร่วมงานกับคนปกติได้ทั้งนั้น ขอให้มีตำแหน่งที่เหมาะสมและตรงกับความสามารถของเขาและเธอก็จะทำให้พวกเขาแสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่

เรื่องการรับคนพิการเข้าทำงาน จริง ๆ แล้วมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 กำหนดให้นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการต้องรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงาน ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ

ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554

ซึ่งบังคับใช้ในวันที่ 26 ตุลาคม 2554 กำหนดอัตราไว้ที่ 100 : 1 ที่ผ่านมา หมายความว่า ถ้าสถานประกอบการมีพนักงาน 1,000 คน ตามอัตราที่กำหนดไว้ที่ 100 : 1 สถานประกอบการแห่งนั้นจะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน 10 คน หากไม่รับจะต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามที่ พ.ร.บ.ประกาศไว้ในกฎกระทรวง

ที่ผ่านมาต้องยอมรับความจริงว่า แทบไม่ค่อยมีสถานประกอบการแห่งไหน ? หรือองค์กรใด ? แทบจะรับคนพิการเข้าทำงาน เพราะไม่อยากปรับองค์กรให้สอดรับกับระบบสาธารณูปโภคที่จะต้องลงทุนเพิ่มใหม่ ไม่ว่าจะเป็นทางเดิน, ห้องน้ำ และสภาพของโต๊ะทำงาน บรรยากาศการทำงาน รวมไปถึงการลงทุนในเรื่องการฝึกอบรมในแผนกต่าง ๆ ด้วย

เพราะใช้เม็ดเงินค่อนข้างสูง

ที่สำคัญ ผู้บริหารบางองค์กรยังยึดติดในเรื่องของภาพลักษณ์หรือแบรนด์ของสินค้า เพราะกลัวว่าหากองค์กรของตนรับคนพิการเข้าทำงานจะทำให้ภาพลักษณ์หรือแบรนด์ของสินค้าดูไม่ค่อยดี เพราะเบื้องหลังของความสำเร็จมีความยากลำบากของคนพิการซ่อนอยู่

หากคู่แข่งรู้อาจจะเป็นจุดโจมตีที่ทำให้ภาพลักษณ์หรือแบรนด์ที่สั่งสมมายาวนานเสียหายได้ เขาจึงเลือกที่จะจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแทน สำคัญกว่านั้น บางองค์กรไม่อยากเป็นภาระแก่พนักงานปกติ เพราะหากรับคนพิการเข้าทำงานจะทำให้บรรยากาศการทำงานไม่คล่องตัว อาจเกิดความหดหู่หรือเกิดความสงสาร และแทนที่พนักงานทุกคนจะโฟกัสเฉพาะเรื่องงาน อาจต้องมาเสียเวลากับสิ่งเหล่านี้

ที่ไม่เป็นผลดีต่อองค์กรเลย

ที่สุดเขาจึงไม่ขอเลือกแนวทางนี้ดีกว่า ตรงข้ามกับบางองค์กรอย่างแบรนด์กาแฟระดับโลกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่มีนโยบายชัดเจนว่าจะเปิดรับคนพิการเข้าทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้นโยบายดังกล่าวจะไม่ได้เกี่ยวข้องอย่างใดกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550

แต่ผู้บริหารมีความเห็นว่า คนพิการสามารถทำงานเยี่ยงคนปกติได้ หากเปิดโอกาสให้เขาและเธอได้แสดงฝีมือ แต่ทั้งนั้น จะต้องมีองค์ประกอบ 5 ประการเป็นอย่างน้อย คือ การให้การต้อนรับ, การมีส่วนร่วมกับชุมชนภายในร้านกับบริษัทและชุมชน, มีความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านกาแฟ, ต้อนรับลูกค้าอย่างจริงใจและมีเอกลักษณ์ และการเอาใจใส่ผู้อื่นที่ทำงานร่วมกัน

เพราะฉะนั้น หากพนักงานหรือพาร์ตเนอร์พิเศษ (ศัพท์เฉพาะที่เขาเรียกกัน) มีองค์ประกอบเหล่านี้ เขาก็จะสามารถเป็นพาร์ตเนอร์พิเศษของแบรนด์กาแฟดังในประเทศไทยได้ ที่ผ่านมาตั้งแต่เปิดโครงการตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน น่าจะมีพาร์ตเนอร์พิเศษที่พิการทางด้านต่าง ๆ หลายคนด้วยกัน ส่วนหนึ่งอาจทำงานด้านบาริสต้า ส่วนหนึ่งคอยต้อนรับลูกค้า และอีกส่วนหนึ่งทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคล

โดยพนักงานทั้งหมดน่าจะกระจายอยู่ตามสาขาต่าง ๆ ในมหานครกรุงเทพทั้งสิ้น

ผมถึงเชื่อไงว่า จริง ๆ แล้วเรื่องของคนพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใดเลย ถ้าเราเปิดใจกว้างยอมรับพวกเขาและเธออย่างจริงใจ

ขอให้มีตำแหน่งงานที่เหมาะสม

ขอให้เขามีความรู้ และความเชี่ยวชาญ

เราก็จะสามารถนำบุคคลเหล่านี้มาร่วมงานกับเราได้ เพราะปัจจุบันมีสถานศึกษาหลายแห่ง อาทิ สถาบันราชานุกูล, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, โบสถ์พระมหาไถ่ พัทยา และอื่น ๆ ที่บ่มเพาะและสร้างให้
พวกเขาออกมาทำงานเยี่ยงคนปกติได้ ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารแต่ละองค์กรแล้วล่ะว่าจะมองเรื่องนี้อย่างไร

เพราะบางทีเขาและเธออาจทำงานดีกว่าเราก็ได้

ใครจะไปรู้ ?