ยกระดับทักษะ “ภาคเกษตร” เสริมสร้างชุมชนนวัตกรรม 6 ด้าน

คอลัมน์ นอกรอบ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ทำให้ประชาชนในภาคเกษตรกรรมเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วทุกภาคของประเทศ ประกอบกับที่ผ่านมา ภาคการเกษตรถูกควบคุมการผลิต และระบบเกษตรและอาหารตลอดห่วงโซ่ ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มากขึ้น

ทั้งนี้ เกษตรกรรมและอาหารในอนาคตควรจะเป็นการผลิตเพื่อเป้าหมาย “ความมั่นคงทางอาหาร” เป็นทางออกและทางรอดของเกษตรกรไทย จึงจำเป็นต้องมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อรองรับการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร และเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารต่อไป เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นจึงได้ดำเนินการรวบรวมกลุ่มสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และต้องการกลับสู่ถิ่นฐานเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรของชุมชน พร้อมทั้งเป็นการทำงานเชิงบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ

โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำเสนอโครงการอบรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และทางเศรษฐกิจฐานรากประเทศไทย ซึ่งมียุทธศาสตร์ คือ เสริมสร้างชุมชนนวัตกรรม (Communities of Innovation) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของชุมชนในพื้นที่

โดยสร้างหรือการใช้นวัตกรรม/บริการวิชาการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564

สำหรับโครงการอบรมดังกล่าวมีสาระสำคัญและวัตถุประสงค์ ดังนี้

1.เพื่ออบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) พืชและเห็ดเศรษฐกิจ หมอดิน New Normal และพืชสมุนไพร

2.เพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นทักษะอาชีพด้านเกษตรกรรมด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นทางรอดและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน

3.เพื่อสร้างต้นแบบศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี และส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม

กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 21 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคตะวันตก 5 จังหวัด ภาคใต้ 14 จังหวัด รวมทั้งหมดจำนวน 2,574 กลุ่มคิดเป็นเกษตรกร ประมาณ 25,740 ราย

วิธีดำเนินการ 1.จัดประชุมชี้แจงเรื่องการจัดส่งข้อเสนอโครงการ ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

โดยได้วางกรอบและแนวทางเพื่อจัดอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม โดยแยกเป็น 6 ด้าน ได้แก่

1) ด้านปศุสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจฐานราก

2) ด้านประมง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจฐานราก

3) การผลิตสินค้า OTOP เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน

4) ด้านพืชและเห็ดเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจฐานราก

5) หมอดิน New Normal เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน และเศรษฐกิจฐานราก

6) ด้านพืชสมุนไพร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างสวนสมุนไพรต้นแบบเพื่อความมั่นคงยั่งยืนของชุมชน

ระยะเวลาดำเนินการปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 วงเงินงบประมาณรวม 407,229,585 บาท

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ สามารถรองรับแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตของโรคโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกันให้เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชน และคาดว่าสามารถจะสร้างรายได้รวม 514,800,000 บาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ย 200,000 บาท/ปี/ครัวเรือน หรือต่อเครือข่าย