Alternative Protein อาหารแห่งอนาคต

คอลัมน์แตกประเด็น
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

จากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งจากโรคอุบัติใหม่ โดยเฉพาะโคโรนาไวรัสที่พัฒนาสายพันธุ์รวดเร็ว แนวโน้มการเกิดโรคใหม่ในอนาคต ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มลพิษ ภาวะเครียดจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้คนทั้งโลกตื่นตัวเรื่องสุขภาพ ทั้งพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิต ผู้บริโภคต้องการอาหารคุณภาพดี โภชนาการสูง ปลอดภัย มีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

อาหารแห่งอนาคต จึงได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งกลุ่มผู้ผลิตและผู้บริโภค อาหารแห่งอนาคตเป็นการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างสรรค์วัตถุดิบทดแทนนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร เกิดความยั่งยืนทั้งห่วงโซ่วงจร และส่งเสริมด้านสุขภาพให้กับผู้บริโภค เรียกว่าตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบันได้มากทีเดียว

ปัจจุบันเราเริ่มเห็นอาหารแห่งอนาคต มากมายในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์จากพืช ที่เรียกว่า plant-based meat, นมจากพืชต่าง ๆ วันนี้จะมาพูดถึงอาหารแห่งอนาคต หัวข้อแรกเริ่มต้นด้วยเรื่องของ alternative protein ที่มีกระแสแรงที่สุดก็ว่าได้

“โปรตีนทางเลือก (alternative proteins)” เริ่มมีการพูดถึงกัน 3-4 ปีมาแล้ว เกิดขึ้นจากความตระหนักว่า ประชากรโลกเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าอัตราการผลิตอาหาร อาจทำให้ต้องหาแหล่งโปรตีนอื่น ๆ ทดแทนเนื้อสัตว์ จึงมีการแสวงหาแหล่งโปรตีนคุณภาพจากแหล่งอื่น ๆ ส่งเสริมการบริโภคให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ มีหลากหลายเหตุผลสนับสนุนให้อุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

เหตุผลที่ทำให้ alternative protein กลายเป็นกระแสอาหารแห่งอนาคต

1.ความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางธรรมชาติ เพราะเนื้อสัตว์ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการผลิต การเลี้ยงปศุสัตว์ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนทำลายชั้นบรรยากาศ เกิดก๊าซเรือนกระจก ผู้บริโภคบางส่วนก็ลดการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิต

2.กระแสความนิยมที่ผู้บริโภคหันมารักสุขภาพมากขึ้น บริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง หันไปรับประทานมังสวิรัติ และ vegans เพิ่มมากขึ้น การสำรวจของ Euromonitor’s Health and Nutrition Survey พบว่า ปี 2563 ผู้บริโภคที่เป็น vegetarians และ vegans คิดเป็นร้อยละ 4 และร้อยละ 6 ของประชากรโลก แม้ตลาดอาหารมังสวิรัติไม่ได้ใหญ่นักแต่เป็นตลาดที่น่าสนใจ มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทุกปี ทั้งยังเป็นตลาดเฉพาะที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง ไม่รวมถึงกระแส flexitarian หรือการกินมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น ก็เติบโตต่อเนื่อง

3.การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เป็นอาหารที่ย่อยง่าย ไม่มีไขมันเกินความต้องการ โปรตีนทางเลือกจึงเป็นตัวเลือกสำคัญมาทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ในอนาคต

4.ปัญหา food security ทำให้ alternative protein ยิ่งจำเป็น จาก UN คาดการณ์ว่า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านคนในปี 2050 ซึ่งจะยิ่งกระทบต่อ food security ความเพียงพอของโปรตีนจากเนื้อสัตว์จะลดลงต้องหาโปรตีนทดแทน

5.COVID-19 ทำให้ความกังวลในการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น การเลือกซื้อเนื้อสัตว์ในท้องตลาดอาจเกิดการปนเปื้อนเชื้อ COVID-19 รวมถึงความวิตกกังวลการแพร่ระบาดของโรคบางชนิดจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์สู่คน เช่น โรคไข้หวัดนก โรควัวบ้า ทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐถึง 23% เลือกบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชมากขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19 อัตราการเติบโตของยอดขายอาหารระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. 2020 ของร้านค้าปลีกในสหรัฐ plant-based meat หรือเนื้อสัตว์ทางเลือก ขายได้มากกว่าปีก่อนถึงเกือบ 3 เท่า

เหตุผลดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการบริโภค alternative protein ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ แหล่งโปรตีนที่สำคัญและได้รับความนิยมนำมาผลิตโปรตีนทางเลือก เช่น โปรตีนจากพืช (plant-based protein), โปรตีนจากสาหร่าย (algae-based protein) โปรตีนจากแมลง (insect-based protein) โปรตีนจากเชื้อราที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (mycoprotein) โปรตีนจากการเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง (lab-grown protein) เป็นต้น

พืชเกษตรของไทยหลายชนิดสามารถนำมาผลิตเป็นโปรตีนจากพืชได้ เช่น ถั่วเขียว งาดำ ข้าวกล้องหอมมะลิ เห็ดฟาง เห็ดแครง ขนุน ต้นอ่อนทานตะวัน ซึ่งมีโปรตีนสูงใกล้เคียงโปรตีนจากเนื้อสัตว์ มีโปรตีนราว 13-23 กรัมต่อน้ำหนักอาหาร 100 กรัม

ถึงแม้ว่าโปรตีนทางเลือกจะเป็นหนึ่งในอาหารแห่งอนาคตที่เป็นที่นิยมและเติบโตได้ดีในตลาดโลก แต่สร้างความท้าทายให้ผู้ประกอบการไม่น้อยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่าง ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคทั่วโลก และการเอาชนะคู่แข่งที่หลากหลาย

หากไทยสามารถใช้พืชเกษตรมาเป็นวัตถุดิบหลักผลิตโปรตีนจากพืชได้จะสร้างความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบ และลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งต้องมีการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่วัตถุดิบทั้งสายพันธุ์ การบริหารผลผลิตให้เพียงพอและคงไว้ซึ่งคุณภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์คุณค่าทางโภชนาการ รสชาติ เนื้อสัมผัส และราคา

โปรตีนทางเลือกอีกหนึ่งชนิดที่ไทยมีความพร้อมในด้านวัตถุดิบ และมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นั่นก็คือ โปรตีนจากแมลง (insect protein) ซึ่งแมลงจัดเป็น superfood หรืออาหารที่ให้คุณค่าโภชนาการสูง จุดเด่นของแมลง คือให้โปรตีนสูงกว่าเนื้อสัตว์ที่มนุษย์รับประทานเป็นปกติ อย่างเนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว เทียบง่าย ๆ ว่า หากนำแมลงมาทำเป็นผง 100 กรัม จะให้โปรตีนได้สูง 70-80 กรัม ขณะที่เนื้อสัตว์อื่น ๆ ให้โปรตีนที่ 30-40 กรัมเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย แมลงถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจสำคัญ เพราะเหมาะต่อการเลี้ยงแมลง ทั้งภูมิอากาศเหมาะสม และมีแมลงหลายชนิด หลายสายพันธุ์เป็นพื้นฐาน ตัวอย่างแมลงที่น่าสนใจ เช่น จิ้งหรีด จิ้งโกร่ง ตั๊กแตน หนอนไหม ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ น่าสนใจแล้วใช่มั้ยล่ะครับ ในครั้งต่อไปเราจะมาเจาะลึกถึงรายละเอียดของ alternative protein แต่ละชนิดกันครับ