ศึก Uber ปะทะ Grab

ภาพ Pixabay

คอลัมน์ จัตุรัสนักลงทุน

โดย ภาคย์ภูมิ ศิริหงษ์ทอง

ผมจำไม่ได้แล้วว่า ผมขึ้นแท็กซี่ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ หลังจากที่ Uber และ Grab เปิดให้บริการในประเทศไทยเมื่อปี 2013 ทั้งสะดวก ประหยัดทั้งเงินและเวลา ไม่ต้องง้อคนขับแท็กซี่ สบายและคุ้มค่า ไม่ต่างอะไรกับการมีคนขับส่วนตัว ข้อดีเหล่านี้ทำให้คนแห่มาใช้บริการมากมาย ธุรกิจก็เติบโตแบบติดจรวด

แต่แน่นอนว่าเมื่อมีโอกาสก็ต้องมีการแข่งขัน Uber เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ก่อตั้งในปี 2009 โดย Garrett Camp ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทกว่า 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.3 ล้านล้านบาท (ใหญ่กว่า Honda และ BMW เสียอีก)

Uber เปิดตัวในไทยด้วยโปรโมชั่นให้นั่งฟรี แถมเป็นสายเพย์ จ่ายอินเซนทีฟที่ให้กับคนขับหนักมาก ราวกับแจกเงินฟรี ๆ ในช่วงแรก ๆ คนขับ Uber หลายคนบอกว่าได้รายได้เดือนละแสนบาท ขับแค่ไม่กี่เดือนก็ได้รถฟรีเลยทีเดียว

เมื่อตลาดน่าสนใจก็มีคู่แข่งใหม่เข้ามา Grab ก่อตั้งในปี 2012 โดย Anthony Tan และ Tan Hooi Ling นักเรียน Harvard Business School ชาวมาเลเซีย จากไอเดียที่รู้สึกว่าทำไมรถแท็กซี่มันเรียกยากเหลือเกิน จุดเริ่มต้นจาก MyTeksi และ GrabTaxi ได้ขยายมาเป็น GrabCar และ GrabBike ปัจจุบันให้บริการอยู่ใน 7 ประเทศ โดย Grab เคลมว่ามีส่วนแบ่งการตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับรถส่วนบุคคล 71% และรถแท็กซี่ 95% และล่าสุดพึ่งระดมทุนไป 2.5 พันล้านเหรียญ (82,500 ล้านบาท) จาก Didi Chuxing บริษัทที่โค่น Uber จนต้องถอนตัวออกจากตลาดจีน และ SoftBank กลุ่มไอทีที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งที่จริงแล้วทั้งสองบริษัทก็เป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญของ Uber เช่นกัน

ถึงแม้ว่าบริษัทไม่ได้เปิดเผยการประเมินค่าของ Grab แต่หลายแหล่งคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 6-8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.0-2.6 แสนล้านบาท เหตุผลที่นักลงทุนให้มูลค่าที่สูงขนาดนี้เพราะมองว่าโอกาสไม่ได้มีเพียงแค่การแย่งส่วนแบ่งการตลาดของรถแท็กซี่เท่านั้น แต่จะมาทดแทนการขับรถด้วยตัวเอง เพราะความสะดวกสบายที่ไม่ได้ต่างกัน และต้นทุนที่ถูกลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยี “รถไร้คนขับ” และรถไฟฟ้าเข้ามา

แต่คำถามสำคัญที่สุดคือ โมเดลธุรกิจแบบนี้สุดท้ายแล้วสามารถจะทำกำไรได้หรือเปล่า เพราะในปี 2016 Uber ขาดทุนมากถึง 2,800 ล้านเหรียญ การจะพลิกกลับมาทำกำไร Uber และ Grab ต้องมีจำนวนผู้ใช้ที่มากขึ้น ปรับราคาค่าโดยสาร ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมถึงลดโปรโมชั่นสำหรับคนขับลง แต่ผมมองว่าการปรับราคาหรือลดอินเซนทีฟคงจะไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้แน่ เพราะการแข่งขันยังรุนแรงอยู่

ในแง่ของคุณภาพการบริการส่วนตัวมองว่าวันนี้ไม่ต่างกันมากแล้ว ทั้งในแง่ความสะดวกในการเรียกรถ และคุณภาพของคนขับ (เพราะส่วนมากคนขับก็ขับให้ทั้งสองแอป) เพราะฉะนั้นการแข่งขันกันด้านราคาจึงเป็นสิ่งสำคัญ

GrabCar จะให้ราคาที่แน่นอนเพื่อสร้างความสบายใจให้กับผู้โดยสาร ส่วน Uber ช่วงแรกจะคิดตามระยะทางและเวลา แต่ต่อมาก็ปรับมาใช้ราคาคงที่เหมือนกัน ทั้งสองบริษัทอัดโปรโมชั่นแข่งกันเยอะมาก ผมเองก็ถูกจูงใจโดยโปรโมชั่นเช่นกัน เรียกว่าเจ้าไหนมีโปรฯลดเยอะกว่าก็ไปอันนั้น ผู้โดยสารส่วนมากก็จะกดดูราคาในทั้งสองแอปก่อน แล้วค่อยตัดสินใจในแง่นี้เรียกได้ว่าสูสีกัน

แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ Grab มีความเข้าใจวัฒนธรรมของคนเอเชียมากกว่า มีความคล่องตัวในการบริหารมากกว่า สังเกตได้ชัดว่า Uber แทบจะไม่ทำการ localization หรือปรับให้เข้ากับคนในพื้นที่เลย ต่างกับ Grab ที่มีการอัพเดตเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ตลอด และผมมองว่าหนึ่งในนั้นอาจเป็นจุดเปลี่ยนของการแข่งขันเลย

ธุรกิจ car sharing ถือว่าเป็นธุรกิจแบบจบกันไปครั้ง ๆ ผู้ประกอบการและผู้ใช้งานไม่มีความผูกพันต่อกัน Grab เห็นโอกาสตรงนี้เลยเริ่มที่จะทำ GrabRewards ขึ้นมา ซึ่งคล้าย ๆ กับระบบสะสมคะแนนของ Starbucks ที่ช่วยส่งเสริมให้คนใช้บริการมาก ๆ เพื่อเก็บแต้ม ไปใช้สำหรับในการอัพเกรดสถานะสมาชิกและใช้แลกของสมนาคุณ ซึ่งมีตั้งแต่บัตรเงินสดเซ็นทรัลจนถึงส่วนลดตั๋วเครื่องบิน ถ้าทำตรงนี้ได้สำเร็จก็จะสามารถทำให้ลูกค้าเลือกใช้ Grab เพราะอยากจะได้คะแนน เพื่อเอาไปแลกของรางวัล หรือว่าได้สิทธิพิเศษในการจองรถ

สุดท้ายแล้วใครจะเป็นผู้ชนะในสมรภูมินี้ ก็ต้องติดตามดูต่อไป แต่ส่วนตัวแอบเชียร์ Grab เพราะอยากให้บริษัทคนเอเชียชนะบริษัทฝรั่งได้บ้าง วันนี้สตาร์ตอัพในประเทศเพื่อนบ้านไปไกลแล้ว นอกจาก Grab ของมาเลเซีย ก็มี Garena (Sea) ของสิงคโปร์ที่พึ่งลิสต์ใน Nasdaq ส่วนเวียดนามก็มี Zalo ที่รอจะลิสต์เหมือนกัน ผมก็ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยจะมีบริษัทไปลิสต์ใน Nasdaq บ้าง เป็นกำลังใจให้ครับ เชื่อว่ายังไงประเทศไทยไม่แพ้ใครในโลกครับ