คลาสคาเฟ่ เด้งรับเมกะเทรนด์ จากธุรกิจกาแฟ…สู่เมตาเวิร์ส

มารุต ชุ่มขุนทด
มารุต ชุ่มขุนทด
สัมภาษณ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิดได้เปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจ จากก่อนหน้านี้หลาย ๆ ธุรกิจมองว่าจะต้องมีร้านหลาย ๆ สาขา เพื่อสร้างการเติบโต แต่วันนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ การเปิดสาขาขนาดใหญ่เริ่มท้าทายจากการลงทุนสูง โดยเฉพาะธุรกิจร้านกาแฟต้องหากลยุทธ์และแนวทางการตลาดใหม่ เพื่อรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับร้านกาแฟ “คลาส คาเฟ่” ที่เริ่มต้นจากการเป็นสตาร์ตอัพ ปัจจุบันอยู่ในตลาดมากว่า 9 ปี มี 26 สาขา เดินหน้างัดกลยุทธ์ฝ่าวิกฤตรอบด้าน

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “มารุต ชุ่มขุนทด” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท คลาส คอฟฟี่ จำกัด เจ้าของร้านกาแฟ “คลาส คาเฟ่” ถึงกลยุทธ์และแนวทางรับมือท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

“มารุต” เริ่มฉายภาพให้ฟังว่า หลังภาครัฐผ่อนคลายกิจกรรม คลาส คาเฟ่เริ่มกลับมาเปิดให้บริการ ธุรกิจเริ่มเดินไปข้างหน้า ขณะเดียวกัน เริ่มมีความกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน หากเกิดการติดเชื้อจำนวนมากเหมือนในต่างประเทศที่เริ่มทยอยล็อกดาวน์ จะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องรอดูแนวทางการจัดการของภาครัฐ นับเป็นเรื่องท้าทายของการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องเตรียมตั้งรับและติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด

ก้าวสู่ดิจิทัลแคชเลส

เช่นเดียวกับ “คลาส คาเฟ่” ปี 2565 เราเตรียมบุกโลกดิจิทัลเต็มตัว เพราะบนโลกรีเทลแบบเก่า ธุรกิจยังปวดหัวกับโควิด แต่ในโลกดิจิทัลเริ่มเห็นทางรอดของธุรกิจ รวมถึงการโฟกัสช่องทางอีคอมเมิร์ซที่มีแนวโน้มเติบโตทั้งในช่วงโควิดและช่วงภาวะปกติ ที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับตัวไปเน้นผลิตเครื่องดื่มจัมโบ้และอาหาร เพิ่มช่องทางขายออนไลน์ และช่องทางของตัวเองผ่านแอปพลิเคชั่น CLASS Cafe ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดไป 5 หมื่นครั้ง และมีการสมัครสมาชิกเข้ามาใช้บริการอยู่เป็นระยะ ๆ ทำให้รายได้ปี 2563 และปี 2564 เติบโตกว่า 15% สวนทางกับตลาดร้านกาแฟที่ยังชะลอตัว

“มารุต” กล่าวว่า อีกด้านหนึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการปรับกลยุทธ์เพื่อก้าวเข้าสู่ดิจิทัลแคชเลสและคริปโทเคอร์เรนซี ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา คลาสทุกสาขาเริ่มงดรับเงินสด เป็นไอเดียที่ดึงเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอด

ที่ผ่านมาหากพูดถึงคริปโทเคอร์เรนซีคนใช้อาจมีไม่มาก แต่ถ้าโฟกัสไปที่แคชเลสถ้าทำจริงจังมองว่าเป็นจุดสร้างอิมแพ็กต์ได้ง่ายกว่า โดยผลกระทบจากโควิด-19 ได้กระตุ้นให้เกิดวิธีชำระเงินที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น คิวอาร์โค้ด กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ การผ่อนชำระ สกุลเงินคริปโท ฯลฯ เข้ามาเพิ่มความสะดวกและความแตกต่างได้ชัดเจนทั้งในแง่ความปลอดภัย การโดนแบงก์ปลอม การต่อราคาอย่างไม่ยุติธรรมคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกเงินสด

ผู้ก่อตั้งคลาสคาเฟ่ ย้ำว่า สิ่งที่คลาสทำเป็นเรื่องใหม่ กลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มคนที่ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี ซึ่งมากกว่า 1 ปีได้ทดลองเปิดให้บริการในรูปแบบแคชเลสทั้งในสาขามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้เห็นอุปสรรคของผู้ใช้บริการ บางคนไม่พร้อมและมีฟีดแบ็กกลับมา หากร้านไม่รับเงินสดจะไม่เข้าใช้บริการ เราจึงพยายามสื่อสาร แรกเริ่มได้ให้พนักงานช่วยแนะนำการโหลดแอปพลิเคชั่น ทดลองใช้งานช่วงแรก การเปลี่ยนเงินเป็นดิจิทัลซึ่งก็ได้รับการตอบรับบ้าง ไม่ได้บ้าง ต้องค่อยเป็นค่อยไป

อีกทั้งได้สะท้อนไปถึงการจัดการร้าน สำหรับการจ่ายด้วยระบบดิจิทัล สามารถสร้างความสะดวกและความปลอดภัยเรื่องทุจริตมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่ทำงานด้วยความสบายใจ ไม่ต้องแตะเงินสดเพราะดิจิทัลทุกอย่างกระโดดเข้าบัญชี จากนี้ถ้า 100% ไม่มีเงินสดเลยจะเป็นการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแบบเต็มตัว โดยปัจจุบันทั้ง 15 สาขามีอัตราการชำระเงินด้วยดิจิทัลเพิ่มขึ้นกว่า 80-90%

มุ่งสร้างดิจิทัลแอสเซต

นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการดีเวลอปสินค้าเมนูใหม่ ๆ ทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กาแฟ น้ำผลไม้ โดยปัจจุบันสัดส่วนของอาหารประมาณ 10% และเครื่องดื่ม 90% ต้องคิดใหม่เรื่องดิจิทัลแอสเซตมากขึ้นเพื่อทำให้คลาสเป็นศูนย์กลางของผู้บริโภคควบคู่กับการขายดีลิเวอรี่ แม้ยอดขายแผ่วลง หลังผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน แต่ยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่ยังนิยมสั่งสินค้าผ่านออนไลน์ต่อเนื่อง

รวมไปถึงการกลับมาให้ความสำคัญกับแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์ “เขาใหญ่ คาม” (KhaoYai Calm) โมเดลแฟรนไชส์เตรียมไว้ตั้งแต่ต้นปี 2564 แต่เมื่อเจอโควิดต้องชะลอตัวไป ขณะนี้เริ่มมีการออกบูทตามงานแฟรนไชส์ต่าง ๆ โดยบริษัทจะเป็นผู้สนับสนุนระบบการจัดการหลังร้าน อุปกรณ์ วัตถุดิบ การฝึกอบรม และการทำตลาด ทั้งช่องทางขายหน้าร้านและดีลิเวอรี่ โดยมีโปรดักต์ฮีโร่เป็นส่วนผสมของกัญชา ทั้งอเมริกาโน่กัญชา, มัทฉะลาเต้ กัญชา และชา กัญชา เป็นต้น

ส่วนโมเดลรถพุ่มพวงที่มีการนำอาหารและเครื่องดื่มใส่รถเข้าไปขายในเมืองโคราช เบื้องต้นได้หยุดเอาไว้ก่อนเนื่องจากปัจจุบันผู้คนเริ่มอยากออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ทำให้ไม่ได้รับการตอบรับเหมือนช่วงโควิด

ทั้งนี้ ต้องรับมือกับราคาต้นทุนโดยเฉพาะเมล็ดกาแฟมีราคาสูงขึ้น ตามด้วยวัตถุดิบนมที่ใช้ระบบขนส่งเย็นต้นทุนสูงขึ้น ปีหน้าจะหนักกว่านี้หากเกิดภาวะเงินเฟ้อและค่าน้ำมันสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ขณะที่ราคาขายปรับขึ้นไม่ได้เพราะลูกค้ามีกำลังซื้อน้อยลง ผู้ประกอบการต้องหาแนวทางรับมือและปรับตัวด้วยการลดต้นทุนหลาย ๆ ด้าน พยายามนำดิจิทัลเข้ามาช่วยระบบหลังบ้าน ให้คอสต์เกิดขึ้นน้อยที่สุดและทำให้เกิดการสูญเสียน้อยลง

“มารุต” กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้แก้ปัญหากันรายวันโดยการปรับราคาเป็นทางเลือกที่เจ็บปวดที่สุด และการปรับราคาไม่ได้ช่วยให้กำไรเพิ่มขึ้น แต่จะทำให้ลูกค้าลดลงตามไปด้วย มาร์จิ้นต่อแก้วสูงขึ้น กลายเป็นว่าต่อให้ขายได้จำนวนน้อยลงเราก็เจ็บอยู่ดี

“เมตาเวิร์ส” เมกะเทรนด์

อนาคตของคลาสคาเฟ่ ในฐานะที่เป็นผู้นำไลฟ์สไตล์ อยู่ระหว่างศึกษาเรื่องของเมตาเวิร์ส (Metaverse) ที่เป็นเมกะเทรนด์ ปีนี้ธุรกิจเศรษฐกิจ ถูกดิสรัปต์จากดิจิทัล เมตาเวิร์ส คริปโทเคอร์เรนซีเต็มรูปแบบ ทุกคนต้องทำดิจิทัลทั้งหมดโดยเตรียมสร้างบริษัทใหม่ด้วยการจับมือร่วมกับพาร์ตเนอร์ทำธุรกิจรับเทรนด์เมตาเวิร์ส ชูจุดขายด้านวีอาร์ บล็อกเชน และคอนเทนต์ ผสานโลกดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน คาดการณ์ว่าจะเปิดตัวบริษัทใหม่ในไตรมาส 1 ปี’65

โดยธุรกิจดังกล่าวจะเข้ามาซัพพอร์ตธุรกิจคลาส คาเฟ่ เพราะบิสซิเนสโมเดลเป็นเรื่องใหญ่มาก ว่าจินตนาการไปไกลแค่ไหน เราไม่ได้ขายกาแฟอย่างเดียว เราขายได้ทุกอย่าง โดยเมตาเวิร์สเป็นโลกของความเป็นไปได้ในธุรกิจทุกรูปแบบ