ก่อนจะกลับไปขุดทองที่ซาอุฯ

ประยุทธ์ ซาอุ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลศักดิ์ สมรรคะบุตร

นับเป็นความสำเร็จและน่าชื่นชมยินดีที่ กระทรวงการต่างประเทศสามารถ “ฟื้น” ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียให้กลับมาอยู่ในขั้นปกติได้ หลังจากที่ตกอยู่ในภาวะ “ถดถอย” มีความสัมพันธ์ที่ “ไม่ปกติ” ระหว่างกันมาเป็นเวลาถึง 32 ปี

อันเนื่องมาจากการเกิดคดีโจรกรรมเครื่องเพชรของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของคดีเพชรซาอุฯ การเกิดคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบีย (3 คดีรวม 4 ศพ) ที่เกี่ยวเนื่องกันไปกับคดีการหายสาบสูญของนักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย “อัลรูไวลี่” ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องระหว่างปี 2532-2533

ภาพการเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตาม “คำเชิญ” ของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในระหว่างวันที่ 25-26 มกราคมที่ผ่านมา

ได้ตอกย้ำความสำเร็จทางการทูตของประเทศไทย จากความพยายามที่จะประคับประคองไม่ให้ความสัมพันธ์ 2 ฝ่ายเสื่อมทรุดลงไปผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหลายท่านในอดีตที่ได้เลือกที่จะดำเนินนโยบายคู่ขนาน หรือ Dual Track Policy ต่อเนื่องมาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน

นำมาซึ่งการประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับปกติ จากเดิมที่ถูกลดระดับลงมาเหลือแค่ “อุปทูต” ก็จะมีการแต่งตั้ง “เอกอัครราชทูต” แลกเปลี่ยนทั้ง 2 ประเทศเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยการฟื้นกลไกการหารือ-ความร่วมมือต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ 2 ฝ่าย ทั้งเรื่องการค้า-การลงทุน-พลังงาน-การท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความถดถอยทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างกันตลอด 32 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ได้ทำให้การค้าของทั้ง 2 ประเทศหยุดชะงักลงแต่อย่างใด จากตัวเลขการค้าล่าสุดในปี 2564 พบว่าสองฝ่ายมีการค้าระหว่างกันคิดเป็นมูลค่า 233,074.6 ล้านบาท

โดยประเทศไทยส่งสินค้าออกไปซาอุดีอาระเบียคิดเป็นมูลค่า 51,500 ล้านบาท และนำเข้าสินค้าจากซาอุดีอาระเบียคิดเป็นมูลค่า 181,574.6 ล้านบาท หรือไทยตกเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าอยู่ 130,074.6 ล้านบาท จากการนำเข้าสินค้าสำคัญอย่างน้ำมันดิบ ขณะที่การส่งออกจะเป็นรถยนต์, ไม้, เครื่องปรับอากาศ, ตู้เย็น, ยาง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

โดยสิ่งที่หายไปในช่วง 32 ปีนี้กลับเป็น “แรงงาน” และ “นักท่องเที่ยว” เนื่องจากด้านหนึ่งซาอุดีอาระเบียไม่ยอมออกวีซ่าให้กับแรงงานไทยกลับเข้าไปทำงาน อีกด้านหนึ่งก็ไม่อนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อการท่องเที่ยว การระงับเที่ยวบินตรงระหว่างซาอุดีอาระเบียกับประเทศไทย

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วเกิดจากมาตรการตอบโต้ที่ไทยไม่สามารถคลี่คลายคดีฆาตกรรมนักการทูตและการหายตัวไปของนักธุรกิจซาอุดีอาระเบียได้ แม้ว่าจะมีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่แล้วก็ตาม

แม้ว่าความสันพันธ์ระหว่างประเทศจะฟื้นกลับมาอยู่ในระดับปกติในปีนี้ แต่สถานการณ์ในซาอุดีอาระเบียได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 32 ปีก่อนมาก ทั้งเกิดความตึงเครียดทางด้านการทหารและการเมือง การประกาศนโยบาย SAUDIZATION เพื่อลดอัตราการจ้างงานแรงงานต่างชาติด้วยการกำหนดให้รัฐ-เอกชนจะต้องจ้างคนซาอุดีอาระเบียเข้าทำงานร้อยละ 20 ของคนงานทั้งหมด และให้เพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราเดียวกัน

เรื่องเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบต่อจำนวนแรงงานไทยที่จะได้วีซ่ากลับเข้าไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย “อาจจะ” ไม่เฟื่องฟูถึงจำนวน 300,000 คน เหมือนกับคำว่า “ไปขุดทองในซาอุฯ” เหมือนในอดีต