นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสพบไวรัสโควิด-19 ทนความร้อนถึง 60 องศาฯ

14 เมษายน 2563 เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเอ็กซ์-มาร์แซย์ ในฝรั่งเศส เผยแพร่ผลการวิจัยสภาพแวดล้อมการทนความร้อนของไวรัสโควิด-19 ว่า ไวรัสชนิดนี้ยังหลงเหลือความสามารถแบ่งตัว เพื่อแพร่เชื้อระลอกใหม่ได้ หลังผ่านความร้อนสูง 60 องศาเซลเซียส นานถึง 1 ชั่วโมงแล้วก็ตาม

ผลวิจัยดังกล่าว ระบุด้วยว่า นักวิจัยได้ฉีดไวรัสที่ยังมีชีวิตใส่เซลล์ไตของลิงแอฟริกัน จากนั้นจึงนำเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสใส่หลอดทดลอง 2 หลอด ที่จำลองสภาพแวดล้อมจริง 2 แบบ ได้แก่ แบบสะอาด และแบบสกปรก เช่น ในช่องปากของมนุษย์

หลังผ่านการให้ความร้อน อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นาน 1 ชั่วโมง เชื้อไวรัสในหลอดทดลองแบบสะอาดถูกกำจัดหมด ส่วนในหลอดทดลองแบบสกปรก พบว่าเชื้อไวรัสยังมีชีวิต และสามารถเริ่มการแพร่เชื้อใหม่ได้ แม้ว่าฤทธิ์ของเชื้อจะลดลงอย่างสิ้นเชิงก็ตาม

ศาสตราจารย์ เรมี ชาเรล หัวหน้าคณะนักวิจัย กล่าวว่า ผลการวิจัยนี้เป็นการเตือนถึงอันตรายของไวรัส ต่อนักวิจัยที่ทำงานวิจัยหรือบุคลากรการแพทย์ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับไวรัส SARS-CoV-2 ว่าควรสวมชุดป้องกันอันตรายเต็มรูปแบบทุกครั้งเมื่อทำงาน และเมื่อเสร็จสิ้นการวิจัยแต่ละขั้นตอน ต้องกำจัดเชื้ออย่างถูกต้องทั้งหมด ก่อนเริ่มขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ การให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 1 ชั่วโมง เป็นระเบียบวิธีการมาตรฐานในห้องปฏิบัติการที่สามารถยับยั้งไวรัสอันตรายได้หลายชนิด รวมถึงไวรัสอีโบลา แต่ไม่ได้ผลกับไวรัสโควิด-19 ทำให้คณะนักวิจัยต้องเพิ่มความร้อนที่อุณหภูมิเป็น 92 องศาเซลเซียส หรือใกล้จุดเดือดของน้ำ ระยะเวลา 15 นาที จึงสามารถฆ่าไวรัสทั้งหมด

ข้อมูล ข่าวสดออนไลน์