น่าห่วง! เผยวิจัย “ช่องว่างทักษะ” จุดอ่อนเเรงงานไทย ขาดความคิดสร้างสรรค์-คนรุ่นใหม่ทักษะไม่ตรงงาน

18 ม.ค. 2561 ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนเเก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2561 “Re-design Thailand ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” 

โดยดร.เกียรติอนันต์ กล่าวในหัวข้อ “ช่องว่างทักษะกับนัยยะที่มีต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศไทย” ว่า การเตรียมตัวก้าวสู่ไทยเเลนด์ 4.0 มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับ “คน” ทั้งส่วนการพัฒนาทักษะในตลาดเเรงงานเเละคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดชะตาประเทศในอนาคต 

ข้อมูลจาก Human Capital Report 2016 จัดทำโดย World Economic Forum เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนของแรงงานฝีมือมีเพียง 14.4% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ในขณะที่ประเทศสวีเดน เยอรมนี  สิงคโปร์  และฟินแลนด์  ซึ่งมีความพร้อมในการเข้าสู่ยุค 4.0 มากกว่าประเทศไทย  มีสัดส่วนแรงงานฝีมืออยู่ระหว่าง 43% ถึง 55% 

ถ้านำตัวเลขของ 4 ประเทศมาเฉลี่ยจะพบว่าสัดส่วนแรงงานฝีมือมีค่าประมาณ 48%  นั่นหมายความว่า ในเชิงปริมาณ เรายังต้องเพิ่มแรงงานฝีมืออีกถึง 33.6%  จึงต้องมีการยกระดับทักษะของแรงงานไทยอีกไม่น้อย 12.81 ล้านคน จากแรงงานทั้งหมด 38 ล้านคนให้กลายเป็นแรงงานฝีมือ  

“นอกเหนือจากเพิ่มจำนวนแรงงานฝีมือให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานแล้ว  อีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน  คือ  ปัญหาช่องว่างของทักษะ (Skill Gap) ซึ่งหมายถึง การที่แรงงานมีทักษะในการทำงานน้อยกว่าที่นายจ้างคาดหวัง หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน” ดร.เกียรติอนันต์ ระบุ 

สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้  ได้ใช้ข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการจำนวน 17,582 แห่ง  ที่ทางกระทรวงแรงงานได้ทำการสำรวจไว้เมื่อปี 2559 มาสร้างดัชนีช่องว่างทักษะ  โดยพบว่า  อุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาช่องว่างทักษะรุนแรงกว่าภาพรวมของประเทศส่วนหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลเลือกมาให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0  เช่น อิเล็กทรอนิกส์  การขนส่ง การผลิตลิตภัณฑ์อาหาร  การผลิตยานยนต์ เเละซอฟต์เเวร์ เป็นต้น 

“ช่องว่างทักษะที่มีความรุนแรงมากที่สุด คือ ความคิดสร้างสรรค์  ความรับผิดชอบ  ความมีวินัยในการทำงาน  และความสามารถในการนำเอาความรู้ที่เรียนมาไปใช้ในการทำงานจริง” 

ขณะที่มีประเด็นที่น่าสังเกตว่า ยิ่งจังหวัดมีการพัฒนามากขึ้น  ปัญหาช่องว่างทักษะเเรงงานก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นได้ เเละหากเป็นทักษะเกี่ยวกับการติดต่อต่างประเทศ ใช้ทักษะเฉพาะทางยิ่งทวีความรุนเเรงขึ้น 

สำหรับเเนวทางการพัฒนาเเรงงานในประเทศไทย ในช่วง10ปี ข้างหน้า ดร.เกียรติอนันต์เสนอว่า ต้องเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาทักษะของแรงงาน (Skill Development Ecosystem)  ซึ่งหัวใจสำคัญของระบบนิเวศน์นี้  คือ โมเดล 3 ประสาน  ที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างภาครัฐ  ภาคเอกชน  และภาคประชาสังคม โดยรัฐต้องทำหน้าที่ประสานงานดึงเอาภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามาร่วมกันคิดว่าต้องยกระดับหรือเพิ่มทักษะใดบ้าง  

โดยแต่ละอุตสาหกรรมจะต้องมีคณะที่ปรึกษาซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้น ช่วยกันประเมินว่า แรงงานในแต่ละระดับ  แต่ละตำแหน่งงานของอุตสาหกรรมนั้น  ต้องพัฒนาทักษะอะไรบ้าง แนวทางไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด เเละต้องพิจารณาลักษณะเฉพาะในเชิงพื้นที่ควบคู่กันไป

ขณะเดียวกันเเรงงานก็ต้องพัฒนาทักษะของตัวเองให้ก้าวทันยุคเเละปรับตัวเพื่อรองรับตำแหน่งงานในสมัยใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีตด้วย