ความยั่งยืน ‘ไทยเบฟ’ มอบผ้าห่มรักษ์โลกต้านภัยหนาว

ไทยเบฟ

ตโครงการไทยเบฟรวมใจต้านภัยหนาว ปีที่ 23 เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของปี 2565 ด้วยการส่งมอบผ้าห่มผืนสีเขียวให้กับพี่น้องชาวพะเยาเป็นจังหวัดสุดท้ายของปีนี้กว่า 12,000 ผืน หลังจากที่ก่อนหน้าส่งมอบผ้าห่มไปแล้วกว่า 186 อำเภอ 15 จังหวัด ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ, มหาสารคาม, สกลนคร, นครพนม, บึงกาฬ, หนองคาย, ขอนแก่น, เพชรบูรณ์, เลย, พิษณุโลก, สุโขทัย, ตาก, แพร่, น่าน และพะเยา

สำหรับตอนนี้ส่งมอบไปแล้วกว่า 4.6 ล้านผืน ทั้งยังคงมีแผนขยายผลออกไปอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับพันธมิตรที่สำคัญคือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ภายใต้แนวคิด BEYOND THE GREEN BLANKET…A SUSTAINABLE COMMUNITY OF GIVING มากกว่าความอบอุ่น คือสังคมแห่งการให้ที่ยั่งยืน

“ปวิณ ชำนิประศาสน์” ที่ปรึกษาคณะกรรมการการพัฒนาชุมชน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับโครงการไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2543 ด้วยปณิธานของ “คุณเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” ที่ต้องดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม จึงริเริ่มเดินทางส่งมอบผ้าห่มเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวทั้งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยตามแนวคิด “คนไทยให้กันได้”

โดยเริ่มแรกใช้ชื่อโครงการว่า “ช้าง…รวมใจต้านภัยหนาว” ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว” พร้อมกับทำการส่งมอบผ้าห่มทุก ๆ ปี กระจายไปยังพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยหนาวมากกว่าที่อื่น ๆ ผ่านมาทำการส่งมอบผ้าห่มไปมากกว่าปีละ 200,000 ผืน

และคิดว่าจะดำเนินโครงการต่อเนื่อง ดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่สอดคล้องแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติมาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ โครงการมีเป้าหมายช่วยเหลือสังคม แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมไปด้วย เพราะผ้าห่มที่เราส่งมอบเป็นการผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET จากขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่ม ต่อเนื่องจากความสำเร็จของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด ภายใต้โครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล ที่มีเป้าหมายในการให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ

“ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนในการรณรงค์ ปลุกจิตสำนึกปรับเปลี่ยน และส่งเสริมพฤติกรรมการคัดแยกบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคที่สามารถเก็บขวดพลาสติก PET หลังจากบริโภคกลับสู่ระบบรีไซเคิลจำนวน 22.8 ล้านขวด ให้กลายมาเป็นผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลกได้มากถึง 600,000 ผืน

โดยที่ยังคงคุณภาพผ้าห่มให้มีความนุ่มและความอบอุ่นเหมือนเช่นเคย เพื่อมอบให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวโดยเฉพาะ ซึ่งผ้าห่ม 1 ผืน ใช้ขวดพลาสติก PET ราว 38 ขวด หากเราผลิตเพื่อส่งมอบปีละ 200,000 ผืน คิดดูว่าจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกจากสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน”

นอกจากนั้นในส่วนของการส่งมอบที่จังหวัดพะเยายังมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรทุกภาคส่วนที่มีส่วนสำคัญเข้ามาร่วมโครงการ เช่น บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด, มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก, บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด, บริษัท เสริมสุข จำกัด, บริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด และโรงแรมอิมพีเรียล ริเวอร์เฮาส์

ไทยเบฟ

พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมให้ร่วมอีกมากมาย อาทิ บริการตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีน รวมถึงการพัฒนาการศึกษาด้วยการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปด้านศิลปะ สิ่งแวดล้อม และจัด “ช้าง โมบาย ฟุตบอล คลินิก” ด้วยการนำโค้ชระดับไลเซนส์มาสอนทักษะฟุตบอลให้กับเยาวชน

รวมถึงกิจกรรมการคัดแยกขยะจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) กิจกรรมเกมปลูกจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม และทำกระเป๋าจากวัสดุเหลือใช้ จากนักศึกษาในโครงการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสังคม (Beta Young Entrepreneur) จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยอีกด้วย

ไทยเบฟ

“ธวัช จรัสวรภัทร” นายอำเภอเชียงคำ ผู้แทนจากทางจังหวัดพะเยา กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ภัยหนาวของพะเยาทุกปีจะมีสภาพอากาศอยู่ที่ 17-22 องศาเซลเซียส แล้วแต่สภาพของพื้นที่ ซึ่งในการสำรวจปี 2565 พบว่ามีผู้ที่คาดว่าจะประสบภัยหนาวประมาณมากถึง 7.9 หมื่นคน ดังนั้นการรับมอบผ้าห่มครั้งนี้คิดว่าจะเพียงพอต่อผู้ประสบภัยหนาวอย่างแน่นอน

ขณะที่ “อินจันทร์ ชัยธิ” อายุ 68 ปี ผู้ที่ได้รับผ่าห่มจากไทยเบฟ เล่าความรู้สึกว่าจังหวัดพะเยามีอากาศหนาวทุกปี ยิ่งปีนี้พยากรณ์อากาศบอกว่าจะหนาวมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงรู้สึกดีใจที่ไทยเบฟนำผ้าห่มมาส่งมอบให้ เพราะอากาศกำลังเริ่มหนาว อีกทั้งยังนำอาหาร น้ำ ของใช้ต่าง ๆ มาให้ด้วย พร้อมกับมีหมอเข้ามาตรวจโรคให้กับชาวบ้านอีกด้วย

“เจิ่ง มะโนดี” อายุ 68 ปี เล่าเพิ่มเติมว่า อากาศที่พะเยาหนาวมาก ชาวบ้านหลายคนยังขาดแคลนผ้าห่ม ซึ่งเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่ยังมีองค์กรใหญ่อย่างไทยเบฟ นึกถึงคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพราะนอกจากเราจะได้ผ้าห่ม เขายังนำสิ่งของอีกหลายอย่างมาให้เรา เช่น มีหมอมาตรวจโรคให้ถึงพื้นที่ ผมเองก็เป็นโรคเจ็บข้อ เพราะต้องขึ้นลงเขาอยู่บ่อย ๆ จึงอยากได้รับการรักษา และคิดว่าชาวบ้านคนอื่นก็อยากพบหมอรักษาโรคเช่นเดียวกัน

นับว่าเป็นโครงการดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับสังคมชนบทของบ้านเรา