แนวโน้มการรับสมัครงาน และความท้าทายของเอชอาร์ในปี 2023

อภิชาติ ขันธวิธิ
อภิชาติ ขันธวิธิ

แนวทางการทำงานของทีม human resource management – HR (ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์) เป็นหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้องค์กรพลิกความท้าทายสู่การสร้างโอกาส แต่ปัญหาคือ ทีมเอชอาร์ยังปรับตัวไม่ทันและไม่ได้ตั้งรับกับความท้าทาย

ด้วยเหตุนี้ “อภิชาติ ขันธวิธิ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิว เจน คอนซัลแทนท์ จำกัด (QGEN) และบริษัท คิว อิลิท จำกัด (QElitez) ผู้สร้างเพจ HR The NextGen บน Facebook กล่าวบนเวทีวันนักบริหารงานบุคคล (Thailand HR Day 2022) RE-INVENT HR : Prepare for The Unprepared ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2566 ในหัวข้อ Recruitment Trends to Look-out for in 2023 เกี่ยวกับแนวโน้มการรับสมัครงานในปี 2566 โดยแนะนำว่าองค์กรต้องมองภาพรวม ถึงแม้จะไม่ตรงกับบริบทองค์กร และอย่าไปวิ่งตามเทรนด์ แต่ต้องเอาเทรนด์มาประยุกต์ใช้ ต้องทบทวนว่า HR ยังใช้วิธีเดิม ๆ หรือไม่ และยังใช้ได้อยู่จริงไหม

“ตอนนี้โลกเราเปราะบางกว่าเดิม ทุกอย่างถูกดิสรับ (disrupt) ง่ายขึ้น ถ้าเรายินดีที่ถูกดิสรับ แปลว่าเรามาถูกทาง แต่ถ้าเราไม่ยินดี แปลว่าบทบาทของเราจะยิ่งน้อยลง ดังนั้น ต้องปรับ mindset ใหม่ และพัฒนาให้ดีกว่าเดิม เพราะทุกความสำเร็จที่เกิดขึ้น ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน เช่น รับคนมาทำงาน 100 คน ผ่านไปไม่นาน คน 50% ลาออก และต้องเริ่มรับคนใหม่”

“อภิชาติ” กล่าวต่อว่า ความท้าทายของ HR ในปัจจุบันมีดังนี้

1. hybrid workplace เป็นกระแสหลักในปัจจุบัน แต่องค์กรต้องกลับไปคิดว่า กระบวนการทำงานของตนต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ ถ้าทำงานที่ไหนก็ได้ แต่ยังทำงานแบบเดิม แสดงว่าไม่เวิร์ก ดังนั้น หากจะไป hybrid ต้องทบทวนการทำงาน และคิดต่อในเรื่องของโครงสร้างองค์กร ระบบงาน เทคโนโลยี คุณภาพของคนทำงาน และทักษะจำเป็นที่ต้องมี ทุกองค์กรต้องมีภาพให้ชัดว่า hybrid workplace ที่ประสบความสำเร็จหน้าตาเป็นอย่างไร

2. talent war เกิดเฉพาะตำแหน่งที่หาคนยาก เช่น HR manager องค์กรต้องการคนที่เข้ามาแล้วทำงานได้เลยทันที และต้องการคนเก่งที่มี multi-skilled

3. the great resignation (การลาออกมโหฬาร) เกิดขึ้นในอเมริกา แต่เมืองไทย คนลาออกไม่นานก็กลับเข้ามาใหม่ เพราะหางานยาก ยกเว้นเป็นกลุ่มคนเก่ง

4. อยู่แต่ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน (quiet quitting)

5. ทำงานตามเวลางาน นอกเวลางาน วันหยุด ห้ามแตะ

6. ยอมลดเงิน ลดรายได้ เพื่อไปเจองานที่มีสมดุลงานกับชีวิตที่ดีกว่า

7. entrepreneur mindset (จิตวิญญาณผู้ประกอบการ)

8. ความยั่งยืนที่เป็นวัฒนธรรมองค์กร เรื่องของ ESG (environment-สิ่งแวดล้อม, social-สังคม, governance-ธรรมาภิบาล) พนักงานต้องเข้าใจนิยาม ESG ขององค์กรในทางเดียวกัน

“จุดตั้งต้นของการจ้างงานคือ ทำให้บริษัทเป็นที่รู้จัก ผ่านเครื่องมืออะไรก็ได้ ถัดมาจุดขายของบริษัทคืออะไร กระบวนการรับสมัครยุ่งยากหรือไม่ HR ต้องคิดแบบนักการตลาด มองว่าตำแหน่งงานคือสินค้า ลูกค้าคือกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากได้มาทำงาน และนำเสนอว่าองค์กรเราโดดเด่นกว่าคู่แข่งอย่างไร ตำแหน่งที่เป็น talent คน HR ต้องทำตัวเป็นรอง ไม่ใช่ทำตัวเหนือกว่า” อภิชาติกล่าวสรุป