มูลนิธิเอสซีจี ชวนเยาวชนเรียนรู้โลกเพื่ออยู่รอด

นับเป็นปีที่ 2 ที่มูลนิธิเอสซีจีให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่รู้จักใช้ทักษะเพื่อการอยู่รอดในโลกปัจจุบัน ภายใต้แนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ส่งเสริมให้เยาวชนเรียนเร็ว จบเร็ว ได้งานเร็ว ทั้งยังนำทักษะ power skills ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดสกิลและซอฟต์สกิลมาปรับใช้ เพื่อหารายได้และดูแลตัวเองในสังคมปัจจุบัน

ปี 2566 มูลนิธิเอสซีจียังคงเดินหน้าผลักดันแนวคิดนี้ต่อเนื่อง และเข้มข้น ด้วยการมุ่งขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่ม โดยเฉพาะการสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่ม Gen Z ทั่วประเทศ จึงร่วมมือกับ Woody World ทำแคมเปญ Gen Will Survive พร้อมจัดประกวด Best Survivor Awards เพื่อค้นหาบุคคล และเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต โดยใช้ทักษะทั้งฮาร์ดสกิลและซอฟต์สกิล

เรียนรู้โลกเพื่ออยู่รอด

“สุวิมล จิวาลักษณ์” กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า มูลนิธิเอสซีจียังคงผลักดัน และปรับตัวไปกับแนวคิด Learn to Earn ผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ทุนการศึกษา-มอบทุนในสาขาที่เรียนเร็ว จบเร็ว ได้งานเร็ว 2.บอกต่อวิธีการว่า Gen Z จะรอดได้อย่างไร เพราะเก่งตำราไม่พอ ต้องเก่งใช้ชีวิตด้วย สามารถติดตาม how to ผ่านช่องทาง TikTok Learn to Earn 3.จุดประกาย สร้างโอกาส เปิดเวที ให้คนรุ่นใหม่ได้โชว์แนวคิด และทักษะของผู้ที่เป็นตัวอย่างการเรียนรู้เพื่ออยู่รอด

สุวิมล จิวาลักษณ์
สุวิมล จิวาลักษณ์

“โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะหลังโควิด-19 ที่ผ่านมา เราสังเกตเห็นว่านักเรียนทุนของเราประมาณ 400-500 คน ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19 ทั้งด้านการหางาน โดยมีอัตราตกงานเกินครึ่ง ทั้ง ๆ ที่เรียนเก่งมาก แต่น้อง ๆ ก็หาทางออกโดยการเลือกทำงานอย่างอื่นที่อาจไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่เรียนมา

ซึ่งแสดงว่าวุฒิการศึกษา หรือสาขาที่เรียนไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าคนเราจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะจริง ๆ แล้วอยู่ที่เราต้องก้าวให้ทันโลก โดยมูลนิธิเอสซีจีเชื่อเสมอว่าคนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่คนเก่ง ร่ำรวย แต่ต้องเป็นคนที่เลี้ยงดูตัวเองได้ เลี้ยงดูครอบครัวได้ และดูแลสังคมได้”

Advertisment

สำหรับ Best Survivor Awards ได้รับการตอบรับอย่างเกินคาด เพราะเป็นครั้งแรกที่เปิดให้คน Gen Z เปิดอกแชร์เรื่องราวของตนเองสู่สาธารณะ มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมเกือบ 500 คน และมีคณะกรรมการคัดเลือกอย่างเข้มข้น นำโดย ผศ.ดร.วิรุจ กิจนันทวิวัฒน์ ประธานสาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา ภาควิชานโยบายการจัดการ และความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

ส่วนผลการตัดสินรางวัล Best Survivor Awards ครั้งแรกของประเทศไทยนั้น ผู้ชนะเลิศคือ “สุรพรชัย ธรรมศิริ” นักศึกษาสาขากายอุปกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “เพ็ญนภา สิงห์สนั่น” คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท

และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ “อรนรินทร์ ศิริปุลินพงศ์” ชั้นปี 3 คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการและการเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีรางวัลชมเชยอีก 5 รางวัล รับเงินรางวัลละ 3,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรจากมูลนิธิเอสซีจี

Advertisment

นอกจากนั้น ในงานประกาศรางวัล มูลนิธิเอสซีจียังเชิญเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ ได้แก่ นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ นักพอดแคสต์ชื่อดังระดับประเทศ และผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ The Standard, มิว-ศุภศิษฎ์ จงชีวีวัฒน์ นักร้อง นักแสดง ที่ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจหนุ่มไฟแรงแห่งบริษัท SOL SKIPPER, ฝน-ทัตชญา ศุภธัญสถิต หรือ MonsterFon ครีเอทีฟและโปรดิวเซอร์มือทอง ฝีปากกล้า ตัวตึงของวงการ ที่วินาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จักเธอ และ เอแคลร์ จือปาก เจ้าของเพจและยูทูบเบอร์สายกิน สายเที่ยว สายความงามตัวแม่ โดยมี วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา ผู้ก่อตั้งวู้ดดี้ เวิลด์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทำในสิ่งที่ชอบจึงมีความสุข

“สุรพรชัย” ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Survival Awards เล่าเรื่องราวด้วยการเปรียบชีวิตตนเองกับรองเท้าบูต โดยรองเท้าบูตข้างแรกคือการรู้จักตัวเอง ที่จะต้องมีสติ พร้อมเผชิญกับสิ่งที่ต้องพบเจอ และพร้อมที่จะปรับตัวกับสิ่งที่จะพบเจอในอนาคตเพื่อให้อยู่รอดได้

วันนี้ผมค้นพบตัวเองเจอแล้ว จากความชอบความสนใจที่มีอยู่ มาลงตัวที่เลือกเรียนเกี่ยวกับการผลิตแขนขาเทียมเพื่อผู้พิการ สำหรับรองเท้าบูตอีกข้างคือการวางแผนเพื่ออนาคต ซึ่งเป้าหมายคือการมีโอกาสไปเรียนต่อด้านกายอุปกรณ์ที่ญี่ปุ่นเพื่อนำเทคนิคต่าง ๆ มาพัฒนาต่อ เพื่อจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น

“ผมมีความมุ่งมั่นอยากช่วยเหลือคนอื่น โดยเฉพาะคนพิการ เมื่อมีโอกาสได้พบกับเด็กออทิสติกที่กล้ามเนื้อบริเวณข้อมือมีปัญหา ไม่สามารถจับดินสอเหมือนเด็กคนอื่นได้ จึงนำความสนใจที่มีอยู่ ผนวกเข้ากับปัญหาที่พบมา เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ จนกลายเป็นบอร์ดฝึกเขียนสำหรับเด็กออทิสติกที่จะช่วยให้เด็กออทิสติกสามารถเรียนรู้ร่วมกับเด็กปกติได้

ผมคิดว่าการรู้จักตัวเอง รู้ความชอบ ความถนัดของตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าได้ทำในสิ่งที่ชอบ 100% เราจะมีความสุขในการทำงาน ต้องถามตัวเองว่าสิ่งที่เราทำตอนนี้ เพราะคนอื่นต้องการ คนรอบข้างต้องการ หรือเราต้องการให้เป็นแบบนี้จริง ๆ เราลองลดความคาดหวัง และนำความคาดหวังมาเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองได้ทำในสิ่งที่ต้องการจริง ๆ ดีกว่า”

ประสบการณ์คือการลงมือทำ

“เพ็ญนภา” รองชนะเลิศอันดับ 1 กล่าวว่า ดิฉันรักการเป็นครู แต่ก็อยากมีอาชีพอื่นด้วย การทำหลายอาชีพ ตามความสนใจ ความถนัด เป็นการต่อเติมความฝันให้กลายเป็นจริง ขณะเดียวกัน ก็ไปหาความรู้นอกห้องเรียน ด้วยการลงเรียนเป็นคอร์สระยะสั้น เพื่อสานต่อความสนใจของตัวเอง โดยลงเรียนคอร์สสอนทำกราฟิก สอนทำลายน้ำต่าง ๆ เพื่อเป็นงานเสริม จนทำรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท ส่วนอนาคตยังคงมุ่งมั่นเป็นครู แต่ก็ยังคงเห็นตัวเองทำมาหาเลี้ยงชีพจากการเป็นกราฟิก การขายผลงานของตัวเอง และการดูแล TikTok ด้วย

“วันนี้กล้าที่จะก้าวออกมาจาก comfort zone แล้วลงมือทำทันที ถ้าดี คือดีเลย แต่ถ้าไม่ ก็จะไม่มีอะไรเสียเปล่า เพราะทุกอย่างที่เราลงมือไป เราจะได้ประสบการณ์ล้ำค่ากลับมา”

ปรับตัวเท่าทันกับเหตุการณ์

“อรนรินทร์” รองชนะเลิศอันดับ 2 กล่าวว่า เป้าหมายต่อไปคือเป็นเจ้าของธุรกิจเสื้อผ้า ทำให้เป็นธุรกิจใหญ่ให้เป็นที่รู้จัก ทั้งในและก็ต่างประเทศ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลงยุคนี้คือเริ่มทำอะไรอย่างเต็มที่ และใช้สื่อออนไลน์ให้มีประโยชน์

“แม้เราต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ไม่เคยหนี อย่ามองว่าปัญหาของตัวเองนั้นแย่กว่าคนอื่น และไม่ควรเปรียบเทียบกับเรื่องของใคร เพราะไม่ได้ทำให้ดีขึ้นมา ที่สำคัญ ต้องมีสติ และปรับตัวให้ได้กับปัญหาที่เจอ การที่เราจะอยู่รอดได้ในยุคนี้ การเป็นตัวเรา การที่เราปรับตัวเท่าทันกับเหตุการณ์ทุก ๆ อย่าง จะทำให้คนที่ปรับตัวได้ อยู่รอดได้”

เพราะโลกปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และตลอดเวลา ดังนั้น คนที่ปรับตัวเร็ว และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่จะ “อยู่รอด” ในโลกใบนี้