มหกรรม SX2023 ลงมือสร้างสมดุลเพื่อโลกที่ดีกว่า

มหกรรมความยั่งยืนใหญ่ที่สุดในอาเซียน SUSTAINABILITY EXPO 2023 หรือ SX2023 จัดขึ้นต่อเนื่อง สำหรับปี 2566 เป็นครั้งที่ 4 ภายใต้ธีม “ลงมือทำ” เพื่อร่วมสร้าง “สมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า” หรือ “Good Balance, Better World” โดยพิธีเปิดงาน SX2023 จัดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566

โดยมี “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ประธานอำนวยการ SX2023 และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงาน ทั้งยังมี “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ Decade of Action”

ต่อจากนั้น มีช่วงเสวนาในหัวข้อ “Sustainable World for All” ที่มีวิทยากรชาวต่างชาติจากนานาประเทศ ได้แก่ “มาทาเอีย เคปา” ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเมารี จากประเทศนิวซีแลนด์ “นิกกี้ คลาร่า” ผู้ประกอบการสตรีผู้พิการและผู้ก่อตั้ง Berdayabareng จากประเทศอินโดนีเซีย และ “กีต้า ซับระวาล” ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย

ฐาปน สิริวัฒนภักดี
ฐาปน สิริวัฒนภักดี

รวมพลังสร้างโลกอย่างยั่งยืน

“ฐาปน” กล่าวว่า งาน Sustainability Expo ริเริ่มมาจากงานที่มีชื่อว่า TSX (Thailand Sustainability Expo) เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก่อนปรับเปลี่ยนมาเป็นมหกรรมความยั่งยืนระดับอาเซียน ซึ่งตนเชื่อว่าการสร้างความยั่งยืนเป็นหน้าที่ที่ทุกคนควรร่วมมือกัน และเชื่อมั่นว่าผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนในประเทศไทย มีส่วนสำคัญในการบริหารความยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และยังมีองค์กรอีกมากมายที่น้อมนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมา

“Sustainability Expo จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2563 เพราะเป็นแนวทางเดียวกับสหประชาชาติที่ต้องการความร่วมมือจากนานาประเทศตั้งแต่ปี 2563-2573 เพื่อเป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ หรือ Decade of Action สำหรับประเทศไทยเราเริ่มพูดคุยกับผู้นำภาคเอกชน เครือข่ายต่าง ๆ หลายองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมองว่าไม่มีใครเก่งกว่ากัน แต่การมาเจอกัน ได้พูดคุยกัน เป็นโอกาสการแลกเปลี่ยน รวมพลัง พัฒนา และสร้างความยั่งยืนจากทุกภาคส่วน”

Advertisment

สำหรับงาน SX2023 ปีนี้ เราทำให้ทุกคน ไม่ว่าจะภาคธุรกิจ ประชาชน คนทำงานด้านเศรษฐกิจฐานราก นักเรียน นิสิตและนักศึกษาได้มาเชื่อมต่อกัน ใกล้ชิดกันมากขึ้น ทั้งยังสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อ Good Balance, Better World คือธีมสำหรับปีนี้เราเน้นการคำนึงถึงความสมดุล ตามหลัก “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) จากการน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy : SEP) ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการจัดงานด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ผนวกกับหลักเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ The Sustainable Development Goals (SDGs) มาสู่การปฏิบัติจริง ให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายแห่งการปฏิบัติและเปลี่ยนแปลงร่วมกัน

“ส่วนปีนี้จะพาผู้มาเยือนไปเกาะติดเทรนด์ยั่งยืนของโลกในทุกมิติ ทั้งเรื่องใกล้ตัว และสัมผัสโลกแห่งอนาคต โดยจัดเต็มไปด้วยกิจกรรม และสาระมากมายให้ร่วมสนุก และเพลิดเพลินไปกับความรู้รอบตัว ทั้งเรื่่องอาหาร สุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ฯลฯ”

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

เศรษฐกิจพอเพียงคือภูมิคุ้มกัน

“ดร.สุเมธ” กล่าวว่า เทคโนโลยีมีความเจริญมากขึ้น คนใช้กันอย่างเพลิดเพลิน ส่งผลให้เด็ก ๆ ติดอยู่กับหน้าจอโดยไม่รู้ตัว แล้วคนก็ลืมมองพื้นฐานชีวิต คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งหมายถึงเรื่องของธรรมชาติ เพราะที่ผ่านมาสิ่งแวดล้อมแปรปรวน ในประเทศไทยเผชิญทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ขณะที่ต่างประเทศมีปัญหาเรื่องไฟป่า เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และคนยังหาทางแก้เพื่อชนะธรรมชาติไม่ได้

Advertisment

“ที่สำคัญ จำนวนประชากรไทยตอนผมอายุ 14 มีราว ๆ 17 ล้านคน ผ่านมาหลายสิบปีถึงตอนนี้จำนวนประชากรเพิ่มไปแล้วถึง 70 กว่าล้านคน ปัญหาคือพื้นที่เท่าเดิม แต่คนมากขึ้น ทุกคนแย่งกันกิน แย่งกันใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งมนุษย์คือผู้สร้าง และผู้ทำลายในเวลาเดียวกัน

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านฝีมือมนุษย์ สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นขยะ มลพิษ และของเสียที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เป็นหน้าที่ของทุกคน ที่สามารถทำได้โดยผ่านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ซึ่งแก่นจริง ๆ ของปรัชญาคือ เป็นการชี้ถึงแนวการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ เมื่อโลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว มีทั้งเปลี่ยนไปในทางที่ดีและไม่ดี

เราก็ควรเลือกตามแต่สิ่งดี ๆ และต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งภายใน ภายนอก เปลี่ยนตัวเองก่อนการเปลี่ยนแปลงภายนอกจะเกิดขึ้น การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องประเมินตัวเองก่อน ทำอะไรต้องดูตัวเองก่อน ให้ใช้เหตุผลในการตัดสินใจ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และต้องมีการบริหารความเสี่ยง เพราะทุกอย่างมีความเสี่ยง ระวังอย่าประมาท

สร้างความยั่งยืนแบบ “เมารี”

“มาทาเอีย เคปา” กล่าวว่า ที่ที่ผมมามีวิธีการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมุมมองของชาวเมารี ที่เรียกว่า “Kaitiakitanga” หมายถึง stewardship (การดูแล), custodianship (ความเป็นผู้พิทักษ์) และ guardianship (ความเป็นผู้ปกครอง) และมีความเชื่อว่า “เราสืบทอดโลกมาจากบรรพบุรุษ และกำลังใช้โลกที่ยืมมาจากรุ่นหลานในอนาคต”

คำพูดนี้มีความหมายเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นให้คนปฏิบัติต่อโลกด้วยความระมัดระวัง ทำทุกอย่างโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของลูกหลานของเรา และคนรุ่นต่อ ๆ ไป

“ชาวเมารีเชื่อว่ามนุษย์กับธรรมชาติมีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง คนคือสิ่งเดียวกับสิ่งแวดล้อม นกและต้นไม้คือพี่น้องของเรา ดังนั้น เมื่อเราดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมก็หมายถึงเราดูแลรักษาโลก และครอบครัวของเรา ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ทุกคนควรปฏิบัติ และต้องเพิ่มระดับความรู้ความเข้าใจด้าน sustainability ให้คนในประเทศ

ขณะที่ความท้าทายในการสร้างความยั่งยืนของคนเมารี คือการหาแนวคิดที่เหมาะสม และปัญหาด้าน colonized thinking ทัศนคติของความด้อยกว่าทางชาติพันธุ์ หรือวัฒนธรรมที่ผู้คนรู้สึก อันเป็นผลมาจากการล่าอาณานิคม ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าแนวทางพื้นเมืองในการสร้างความยั่งยืนอาจไม่ได้ผล แต่ที่จริงคือเราควรมีศรัทธาในทุกคน”

TX2023

ดึง “คน” มาร่วมกันแก้ปัญหา

“นิกกี้ คลาร่า” กล่าวว่า ความยั่งยืนเกี่ยวข้องกับการเติบโตทางด้านธุรกิจ การใส่ใจสิ่งแวดล้อม และสวัสดิการสังคม บางครั้งพวกเราลืมไปว่า ความยั่งยืนยังหมายถึงการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่หมายรวมถึงผู้พิการ โดยในประเทศอินโดนีเซียมีผู้พิการ 8.7% จากจำนวนประชากรทั้งหมด 250 ล้านคน หรือเท่ากับว่ามีผู้พิการ 1.3 ล้านคน

“สำหรับปัญหาและความท้าทายแต่ละด้านที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ไม่มีด้านไหนยาก หรือง่ายกว่ากัน สิ่งสำคัญคือเรื่องของการทำให้เป็นระบบ การสร้างความร่วมมือ รวมถึงทุกคนต้องให้ความสำคัญกับปัญหาต่าง ๆ และพยายามทำความเข้าใจ สิ่งสำคัญที่สุดคือคน ต้องดึงทุกคนมาร่วมแก้ไข เพราะบางครั้งทางแก้ไม่ได้มาจาก top down แต่อาจเป็น bottom up และไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลอย่างเดียว แต่เป็นpriority ของทุกฝ่าย”

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ขณะที่ “กีต้า ซับระวาล” กล่าวถึงบทบาทของ UN ว่าเป็นการสร้างระบบเพื่อเชื่อมช่องว่างระหว่างรัฐบาล และแนวทางสังคมในทุกประเทศ โดยส่งเสริมรัฐบาลให้เร่งผลักดันความยั่งยืน เหมือนกับที่ประเทศไทยกำลังทำ ซึ่งช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีตัวแทนเป็นนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ไปกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2023 ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงกันยายนที่ผ่านมา

“โดยสิ่งที่นายกรัฐมนตรีของไทยให้ความสำคัญนั้น ครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก ๆ คือ หนึ่ง การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเน้นการสร้างงาน ลดความยากจน สอง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สาม การดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (climate ambition) ด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทรานส์ฟอร์มเกษตรกรรมไปสู่รูปแบบที่ลดการปล่อยคาร์บอน และขับเคลื่อนการเงินสีเขียว (green finance)”

ดังนั้น จึงเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรมาร่วมกันสร้างสมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า ในงานมหกรรมความยั่งยืนใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพื่อแสดงพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงโลกแห่งอนาคตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน