ผู้นำรับมือโลกเดือด ชู ESG-SDGs ขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืน

กลุ่มธุรกิจ TCP จัดงานประชุมด้านความยั่งยืนภายใต้แนวคิด Net Zero Transition…From Commitment to Action หรือการเปลี่ยนผ่านสู่ net zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ผ่านมา งานสัมมนาครั้งนี้เป็นการชุมนุมของภาคธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และผู้ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับกลุ่มธุรกิจ TCP

รวมถึงนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในช่วงหนึ่งของงาน บิ๊กธุรกิจอย่าง TCP, มิตรผล และ SCGC ได้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องการทำธุรกิจภายใต้กรอบความยั่งยืน รวมถึงการแลกเปลี่ยนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนักเศรษฐศาสตร์

สราวุฒิ อยู่วิทยา
สราวุฒิ อยู่วิทยา

“TCP” ใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน

“สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP เริ่มต้นกล่าวว่า เรากำลังอยู่ในช่วงสิ้นสุดภาวะโลกร้อน แต่กำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทุกคนจะต้องเร่งมือปฏิบัติจริง ในการช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกเดือดนี้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ

ยกตัวอย่าง TCP อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ตั้งเป้าหมายว่าเราต้องเป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม คือทำธุรกิจจะต้องดีกว่าเดิม ไม่ใช่มุ่งจะเก่งอย่างเดียว ปัจจุบันเครื่องดื่มของ TCP หากแยกตามประเภทของบรรจุภัณฑ์ สามารถแบ่งสัดส่วนเป็นกระป๋องอะลูมิเนียม 60-65% ขวดแก้ว 30-35% และ PET ประมาณ 5%

“เรามีแนวคิดในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ตามกรอบความยั่งยืน ซึ่งตั้งใจไว้ว่าภายในปี 2567 บรรจุภัณฑ์ของเราทั้งหมดต้องสามารถรีไซเคิลได้ 100% ตอนนี้คืบหน้าตามแผน เพราะกลุ่มเครื่องดื่มสามารถรีไซเคิลครบแล้ว 100% โดยขับเคลื่อนร่วมกับพาร์ตเนอร์ เพื่อหาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Advertisment

เช่น ลดน้ำหนักให้เบาลง เพราะจะทำให้เราใช้วัตถุดิบน้อยลงด้วย รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนโครงการที่สามารถเพิ่มศักยภาพในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค (EPR) เพื่อสนับสนุนเรื่องของการนำกลับมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล”

ถ้ามองภาพรวมเรื่องความยั่งยืนในประเทศไทย วันนี้ถือว่ามีความคืบหน้าพอสมควร แต่ยังมีความท้าทายอยู่หลายด้าน สำหรับ TCP หนึ่งคือการเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ขวด PET แบบสี ซึ่งยังมีข้อจำกัดเรื่องการนำกลับมารีไซเคิล เพราะยุ่งยากมากกว่าขวด PET แบบใส

เช่นเดียวกับเรื่องบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ส่วนมิติเรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นปัญหา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ตกค้างอยู่ในธรรมชาติค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ประกอบกับในแง่ของการขนส่งเองก็มีน้ำหนักมาก ทำให้ต้องใช้พลังงานในการขนส่งมากกว่าบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ทำให้มีการสิ้นเปลืองพลังงาน รวมทั้งยังสร้างคาร์บอนสูงกว่าบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย

Advertisment

“แต่กระนั้น ก็มีหลายเสียงจากนักวิชาการที่บอกว่าไม่ควรนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ตอนนี้เรายังต้องศึกษารายละเอียดต่อไป เพราะความจริงแล้วขวดแก้วสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด แต่ปัญหาคือยังขาดเศษแก้วที่จะนำมารีไซเคิล เพราะมีขวดแก้วเข้ามาสู่ระบบน้อยมาก

ถึงมีเงินก็หาซื้อได้ยาก โรงงานแก้วบางแห่งถึงกับต้องตั้งบริษัทรับซื้อขวดแก้วเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ ฉะนั้น แนวทางแก้อาจจะต้องไปศึกษาแนวทางความร่วมมือ และสื่อสารไปถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น เพื่อสามารถเพิ่มสัดส่วนการเก็บกลับได้ดีขึ้น”

ส่วนเรื่องการขนส่งก็เช่นกัน ตอนนี้ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ EV เราต้องดูว่าต้นทางของ EV มาจากไหน ซึ่งเป้าหมายสู่ net zero หรือปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เลย คิดว่ายังไม่มีใครทำได้ 100% ตราบใดที่ยังมีการใช้พลังงานอยู่ แต่ผมเชื่อมั่นว่ามันจะค่อย ๆ มีวิธี เพราะทุกคนยินดีที่จะทำ เพราะเป้าหมายความยั่งยืนเป็นเป้าหมายใหญ่ ที่ไม่ได้ทำเพื่อคนเดียว แต่เป็นการทำเพื่อโลก

“มิตรผล” สร้างเกษตรกรยั่งยืน

“อิสระ ว่องกุศลกิจ” ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ในภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาคการเกษตร ถือเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยตรง หากดูภาพรวมปัจจุบันภาคการเกษตรมีการจ้างงานสูงถึง 12 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 2 ของแรงงานไทย

แต่กลับก่อให้เกิด GDP เพียง 9% ต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ GDP ถึง 32% และ 59% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเพราะผลิตภัณฑ์ที่คนไทยปลูกนั้นเป็นกลุ่มพืชที่มีมูลค่าต่ำ เมื่อเทียบต่อพื้นที่เพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด หรืออ้อย

ซึ่งกลุ่มมิตรผลอยู่ในภาคเกษตรกรรม เรามีเครือข่ายเกษตรกรอยู่ 2 ล้านไร่ เราเข้าใจปัญหาที่เกษตรกรพบเจอ จึงพยายามเดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในไทยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาชลประทาน เพื่อการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งการช่วยเกษตรกรสร้างสระเก็บน้ำ ขุดเจาะบ่อบาดาล การวางระบบน้ำพุ่ง น้ำหยด ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยจาก 9 ตันต่อไร่ เป็น 15 ตันต่อไร่ ทั้งยังใช้เครื่องจักรกลเกษตรเข้ามาแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพื่อเพิ่มผลผลิต และการกักเก็บน้ำใต้ดิน

“สิ่งที่ทำอีกอย่างคือ เราลดการเผาไร่อ้อย ซึ่งเป็นปัจจัยการเกิด PM 2.5 ผ่านการรับซื้อใบอ้อยและฟางข้าวตันละ 1,000 บาท เพื่อนำไปแปลงเป็นพลังงาน เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล จนถึงนำไปเป็นอาหารสัตว์ ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้อีกช่องทางให้เกษตรกร ผ่านการส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล สมุนไพร และเลี้ยงปลา ควบคู่กับการปลูกไร่อ้อย เพื่อลดรายจ่ายค่าอาหารในครัวเรือน และยังเป็นช่องทางเสริมรายได้ ซึ่งที่ผ่านมาสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรได้ประมาณ 12,000 บาท/ครอบครัว/ปี”

SCGC ชูหลัก 4R ลดคาร์บอน

“ธนวงษ์ อารีรัชชกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท SCGC กล่าวว่า SCGC อยู่ในธุรกิจเคมีภัณฑ์ โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในกระบวนการผลิต และการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ ดำเนินการโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นธรรม และโปร่งใส ตามแนวทาง ESG (environmental, social and governance) และ SDGs (sustainable development goals) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดวิกฤตสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมและโลกที่ดียิ่งขึ้น

SCGC มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ green polymer ที่ตอบโจทย์เรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ ยังเดินหน้าพัฒนากระบวนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน

การใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการเกิดของเสีย ลดการใช้น้ำจากภายนอก และพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้าน low carbon ซึ่งเรามีเป้าหมายต้องการลดคาร์บอนโดยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI และ machine learning โดยนำเข้ามาจัดการ value chain เพื่อช่วยการทำงานที่รวดเร็ว แม่นยำ ซึ่งจะเป็นวิธีการช่วยลดคาร์บอนได้อีกทางหนึ่ง

“SCGC จะไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้นั้น คือการลดขยะในภาคการผลิต โดยใช้หลักการ 4R คือ reduce ลดใช้ทรัพยากรผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะที่ยังมีคุณภาพสูง, recyclable ออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลผ่านการเลือกใช้วัตถุดิบที่รีไซเคิลง่าย แต่ตอบโจทย์หลากหลายผลิตภัณฑ์,

recycle เดินหน้าพัฒนาวิธีการรีไซเคิลขั้นสูง ปัจจุบัน SCGC ได้รับการรับรองมาตรฐานการรีไซเคิลเรซินเพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และ renewable การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน โดยเฉพาะไบโอพลาสติก โดยจะเลือกใช้สารประกอบที่ย่อยสลายทางชีวภาพ”

แนะลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก

“ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายเรื่อง ทั้งโครงสร้างประชากร การขาดการลงทุนเชิงเทคโนโลยี การศึกษา เรื่องความเหลื่อมล้ำ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่

หากมองดูภาพรวมของโลก การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมมาตลอด จะเห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจมาพร้อมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น และอุณหภูมิโลกก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเราจะเห็นภาพที่เกิดขึ้นกับทั่วโลกตอนนี้

อย่างสหรัฐอเมริกา ภัยพิบัติเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แค่ปี 2566 ปีเดียวเกิดขึ้นแล้วกว่า 23 ครั้ง นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงอีกหลาย ๆ ประเทศ เช่น ฮ่องกงเผชิญฝนตกหนักในรอบ 140 ปี หรือไฟป่าในฮาวาย วิกฤตอาหารในแอฟริกา ซึ่งมาจากภัยแล้ง

“ผลตรงนี้แสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถกลับไปสู่จุดเดิมได้อีกแล้ว วันนี้จึงเป็นจุดที่เราต้องเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แค่ 0.4% ของทั้งโลก เป็นตัวเลขที่ไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะทั่วโลกเริ่มออกกฎ กติกา ข้อบังคับ มีกรอบบางอย่างที่เราต้องทำตาม เพราะเราไปสัญญากับประเทศอื่น ๆ แล้ว จึงอยากให้มองว่า ต่อจากนี้การไปสู่ net zero หรือการทำเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของการสร้างต้นทุนเพิ่ม แต่มองว่าเป็นการลงทุน”