ต้นแบบชุมชนไร้ขยะ บ้านนาไม้ไผ่ “นครศรีธรรมราช”

เอสซีจีประกาศกลยุทธ์ ESG 4 Plus เมื่อประมาณปี 2564 โดยมุ่ง Net Zero-Go Green-Lean เหลื่อมล้ำ-ย้ำร่วมมือ ด้วยการยึดหลักเชื่อมั่น โปร่งใส ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในกระบวนการทำธุรกิจของเอสซีจีทั้งสิ้น ผลเช่นนี้ จึงทำให้ ESG 4 Plus จึงเข้าไปมีส่วนร่วมกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในทุกกระบวนการ

“วีนัส อัศวสิทธิถาวร” ผู้อำนวยการ สำนักงานแบรนด์เอสซีจี กล่าวว่า ESG เป็นกลยุทธ์ที่ทุกองค์กรธุรกิจใช้ โดยมุ่งเน้นเรื่องการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งไม่ใช่การทำกิจกรรมซีเอสอาร์ที่ลงพื้นที่ชุมชน ถ่ายรูปแล้วจบ แต่ส่วนใหญ่จะสอดคล้องไปกับกระบวนการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเอสซีจี เรามีการดำเนินอยู่หลายเรื่อง

วีนัส อัศวสิทธิถาวร
วีนัส อัศวสิทธิถาวร

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการตั้งเป้าบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ด้วยการลงทุนพัฒนากระบวนการผลิตสีเขียว ควบคู่ไปกับนวัตกรรมกรีน เช่น ปูนสูตรคาร์บอนต่ำ นวัตกรรมรักษ์โลก ด้วยการลดใช้ทรัพยากร ร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และเร่งลดเหลื่อมล้ำสังคม พัฒนาทักษะอาชีพแก่ชุมชน และผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ จนช่วยให้คนเลิกแล้ง เลิกจนกว่า 2 แสนคน เพื่อร่วมส่งต่อโลกที่น่าอยู่สู่คนรุ่นต่อไป

“ในทุกองค์ความรู้ที่มี เรานำลงไปถ่ายทอดสู่ชุมชน ซึ่งที่อำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่โรงงานของเราตั้งอยู่ ภายในโรงงานมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่จะช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทั้งยังติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์ลอยน้ำ ด้วยการนำลมร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ (waste heat generator)

รวมทั้งใช้เชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ต้นปาล์ม ต้นยางพารา ขี้เลื่อย ทั้งหมดนี้รวมเป็นสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดมากกว่าร้อยละ 50 ที่ไม่เพียงจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 6 แสนตันต่อปี เรายังใช้รถบรรทุกหินปูนไฟฟ้า (EV mining truck) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฝุ่น PM 2.5”

Advertisment

“วีนัส” กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เอสซีจียังมีการสนับสนุนชุมชนโดยรอบโรงงาน โดยเฉพาะที่บ้านนาไม้ไผ่ ต.นาไม้ไผ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยการสนับสนุนชุมชนในเรื่องการคัดแยกและจัดการขยะ เพื่อให้ชุมชนนำขยะไปขายได้ เช่น ขวดพลาสติก กระดาษ

ขณะที่บางส่วนมาขายให้กับโรงงานเอสซีจีเพื่อผลิตพลังงานทางเลือก โดยขยะที่นำมาขายจะเป็นขยะเชื้อเพลิง หรือ RDF (refuse derived fuel) เป็นขยะมูลฝอยซึ่งจะถูกแปลงเป็นเชื้อเพลิงในลำดับต่อไป

สุจิตรา ป้านวัน
สุจิตรา ป้านวัน

กล่าวกันว่า จุดเริ่มต้นการคัดแยกขยะเกิดจาก “สุจิตรา ป้านวัน” รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาไม้ไผ่ และประธานกลุ่มชุมชนวังขรีวิถียั่งยืน ที่ปรึกษากลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจ ที่ชวนเด็ก ๆ ในชุมชนมาแยกขยะ

แนวคิดนี้เกิดจาก “อาจารย์พีระพงษ์ กลิ่นละออ” จากโครงการพลังปัญญา ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างปัญญาให้ผู้นำชุมชนเกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดที่ทันสมัย และคิดนอกกรอบ มาช่วยเปลี่ยนความคิดด้วยการแนะนำให้ใช้หลักของเศรษฐกิจพอเพียง และเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยอาจารย์บอกว่าแค่จัดการขยะให้ดี ก็สร้างรายได้ให้ชุมชนได้แล้ว เราจึงช่วยกันเก็บคัดแยกขยะ

Advertisment

“ดิฉันเริ่มลงพื้นที่ตำบลนาไม้ไผ่ ซึ่งมีอยู่เกือบ 3 พันครัวเรือน 14 หมู่บ้าน โดยเริ่มต้นที่หมู่ 13 เพราะเป็นหมู่บ้านหลังเขาที่อยู่ห่างไกล ด้วยการใช้เวลาทุกเสาร์ อาทิตย์ เข้าไปทำความรู้จัก และสร้างความคุ้นเคยกับเด็ก ๆ ดิฉันใช้เวลาอยู่นานมากราวเกือบ 1 ปี เด็ก ๆ ถึงจะยอมเปิดใจ และมาร่วมกับเรา ตอนแรกมีเด็กเข้าร่วมเพียง 15 คน พอทำไปเรื่อย ๆ ก็มีเพิ่มขึ้น จนเกิดเป็นกลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งขึ้นมา”

โดยบทบาทของกลุ่มคือให้ความรู้เรื่องขยะ และพาไปปฏิบัติจริง ไปทัศนศึกษา ไปเยี่ยมบ้านคนป่วย ผู้สูงอายุ และคนพิการ เพื่อให้เด็ก ๆ เห็นภาพวิถีชีวิตของคนแต่ละครอบครัว รวมถึงความยากลำบาก และสอนให้เขารู้จักช่วยเหลือผู้อื่น

ซึ่งการลงพื้นที่ต่าง ๆ เป็นการพาไปเก็บและแยกขยะ เช่น กระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก เราจะนำไปขาย ส่วนเศษอาหารนำมาทำปุ๋ยหมัก และอาหารสัตว์ ขณะที่ขยะทั่วไปที่เผาไหม้ได้ นำไปขายให้เอสซีจี แล้วผ่านกระบวนการจนกลายเป็นเชื้อเพลิงทดแทน

“ตอนนี้ผลลัพธ์ที่ได้คือ ชุมชนของเราแทบทุกหลังคาเรือนไร้ขยะ ไม่มีถังขยะหน้าบ้านเลย เพราะทุกคนเห็นคุณค่าของขยะ ที่แยกแล้วบางส่วนนำไปขายได้ นอกจากเรื่องนี้ ผลลัพธ์แฝงที่ได้มาคือเราสามารถใช้ขยะเป็นสื่อกลางเชื่อมคนสองวัยเข้าด้วยกันได้ คือ วัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ เพราะทุกครั้งที่ลงพื้นที่ เด็กกับผู้ใหญ่จะได้พูดคุยกัน ได้ช่วยเหลือกัน”

อย่างไรก็ตาม “วีนัส” กล่าวสรุปว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่เอสซีจีทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งไม่ใช่การทำกิจกรรมภายนอกลักษณะซีเอสอาร์ แต่เป็นกิจกรรมภายในที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ปัจจุบันเอสซีจีทำงานร่วมกับชุมชนหลากหลายโครงการ หลากหลายรูปแบบมากทั่วประเทศ

เฉพาะโครงการพลังชุมชน ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมวิสาหกิจชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพให้ชุมชน ด้วยการให้ความรู้ คู่คุณธรรม จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง

โดยใช้หลักการตลาด เช่น แปรรูปผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่ม และตรงใจผู้บริโภค เพื่อขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายอย่างการขายออนไลน์ ขณะที่ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมอบรม 650 คน จาก 14 จังหวัด จนเกิดรายได้เพิ่ม 4-5 เท่า จาก 1,150 ผลิตภัณฑ์ การจ้างงาน 3,410 คน กระทั่งนำไปสู่การส่งต่อความรู้ 26,310 คน

จนเกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง พร้อมส่งต่อองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่ ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทาง ESG 4 Plus เพราะเอสซีจีตั้งเป้าลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ประมาณ 50,000 คน ภายในปี 2573