Greenovative Forum เชื้อเพลิงอนาคตสู่การเดินทางยั่งยืน

บางจาก

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนาครั้งใหญ่แห่งปี 2566 Bangchak Group Greenovative Forum ครั้งที่ 13 ในหัวข้อ “Regenerative Fuels : Sustainable Mobility” นำเสนอประเด็นเชื้อเพลิงอนาคตที่จะตอบโจทย์การเดินทางอย่างยั่งยืน โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับโลกและระดับประเทศร่วมสะท้อนมุมมองภาคส่วนต่าง ๆ

บางจากพร้อมบุกเบิก SAF

เบื้องต้น “ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Regenerative Fuels : Sustainable Mobility” ว่า โลกบริโภคพลังงานต่อวันรวมกันอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านล้านจูล (EJ) เทียบเท่ากับพลังงานที่ใช้แอร์บัส 320 ที่บินรอบโลกวันละ 3.5 แสนรอบ โดย 80% เป็นสัดส่วนพลังงานจากฟอสซิลเทียบเท่ากับปริมาณพลังงาน 1.4 ล้านล้านล้านจูล ซึ่งมีการบริโภคน้ำมันต่อวัน 220 ล้านบาร์เรล เทียบเท่ากับบริโภคน้ำรวม 3.5 หมื่นล้านลิตรต่อวัน ถือเป็นปริมาณที่สูงมาก

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก

“ทั้งนี้ การขับเคลื่อนโรดแมปสู่ net zero จำเป็นต้องลดสัดส่วนการใช้น้ำมันจากฟอสซิลเพื่อเปลี่ยนผ่านมาสู่พลังงานสะอาดในอนาคต ซึ่งเชื้อเพลิงอนาคตเพื่อตอบโจทย์การใช้พลังอย่างยั่งยืน คือคลีน โมเลกุล หรือโมเลกุลสะอาด เป็นเชื้อเพลิงในรูปของเหลวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น biofuel, sustainable fuel, e-Fuel และ green ammonia ฯลฯ การใช้คลีน โมเลกุล มีต้นทุนที่ต่ำกว่า ทั้งยังขนส่งได้ง่ายกว่า และต่อไปอาจจะต้องพัฒนาเทคโนโลยี CCUS (Carbon Capture Utilization and Storage) ควบคู่กัน เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยในการบริหารจัดการคาร์บอน”

“ชัยวัฒน์” กล่าวต่อว่า ตอนนี้บางจากเดินหน้าเรื่อง sustainable fuel ผ่านโครงการทอดไม่ทิ้ง เพื่อนำน้ำมันที่ใช้ในการทอดอาหาร หรือน้ำมันทอดที่ใช้แล้วนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF โดยบางจากกำลังสร้างโรงงานกลั่นน้ำมันใช้แล้วเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงเครื่องบิน ขณะนี้โรงงานมีความคืบหน้าประมาณ 30% คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปี 2567 และเดินเครื่องผลิตน้ำมันเครื่องบินได้ประมาณกลางปี 2568 คาดว่าผลิตน้ำมันเครื่องบินได้วันละ 1 ล้านลิตร

เทรนด์ SAF ทั่วโลก

“จี ยาง ลุม” รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเชื้อเพลิงชีวภาพและการวิเคราะห์จาก S&P Global Commodity Insights บรรยายเรื่อง “A Total Solution for Low Carbon Intensity Renewable Fuels” กล่าวถึงเทรนด์ SAF ทั่วโลกว่า ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) มีเป้าหมายใช้ SAF ในสัดส่วน 70% ภายในปี 2050 และมีข้อกำหนดเฉพาะคือ ห้ามใช้น้ำมันถั่วเหลือง และต้องใช้น้ำมันหมูหรือน้ำมันปาล์มแทน เป็นต้น

Advertisment
จี ยาง ลุม รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเชื้อเพลิงชีวภาพและการวิเคราะห์จาก S&P Global Commodity Insights
จี ยาง ลุม รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเชื้อเพลิงชีวภาพและการวิเคราะห์จาก S&P Global Commodity Insights

ทั้งนั้นเพราะสหรัฐอเมริกาตั้งเป้าเครื่องบินต้องใช้ SAF 35% ภายในปี 2030 แต่ต้องเป็นเชื้อเพลิงจากน้ำมันถั่วเหลือง และมีนโยบายลดหย่อนภาษี จึงเป็นไปได้ว่าจะสามารถดึงดูดให้องค์กรต่าง ๆ ใช้เชื้อเพลิงยั่งยืนมากขึ้น เพราะมีการลดหย่อนภาษีเชื้อเพลิงยั่งยืนและเชื้อเพลิงชีวภาพ ขณะที่เทรนด์การใช้ SAF ในเอเชียไม่ตื่นตัวเท่ายุโรปและสหรัฐอเมริกา มีเพียงญี่ปุ่นที่เคลื่อนไหวมากที่สุด โดยตั้งเป้าใช้ SAF 10% ภายในปี 2030

ก้าวสู่ชีวมวลยุค 1-2

ขณะที่ “ไมเคิล สไปวี” ผู้อำนวยการฝ่ายขายจาก ฮันนีเวลล์ ยูโอพี (Honeywell UOP) พาร์ตเนอร์กับบางจากในการผลิตเชื้อเพลิงการบินยั่งยืนครั้งแรกในประเทศไทย กล่าวว่า 2-3 ปีจากนี้ บริษัทโฟกัสไปที่การผลิต SAF จากชีวมวลยุคที่สอง ที่มาจากไขมันสัตว์ เช่น วัว และน้ำมันประกอบอาหาร

ไมเคิล สไปวี ผู้อำนวยการฝ่ายขายจาก Honeywell UOP
ไมเคิล สไปวี ผู้อำนวยการฝ่ายขายจาก Honeywell UOP

นอกจากนั้นยังมองตัวเลือกอื่น คือ ชีวมวลยุคที่สอง เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร เช่น วัตถุดิบจากพืช และต้นไม้ที่มีลิกโนเซลลูโลสรวมถึงชีวมวล pyrolysis oil เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมันชีวภาพขั้นสูง

“ความท้าทายของการผลิต SAF คือ การหาเชื้อเพลิงชีวภาพในโลเกชั่นเดียว เพื่อจะบริหารซัพพลายเชนและบริหารการขนส่งได้ ทั้งนี้ จุดแข็งของฮันนีเวลล์ ยูโอพี คือมีใบอนุญาตด้านการผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียนกว่า 40 ใบ ใน 40 โครงการทั่วโลก แบ่งเป็นในเอเชียมากถึง 15 โครงการ”

Advertisment

ทรานส์ฟอร์มด้วยเทคโนโลยี

“เจฟฟ์ คาตัน” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ เอเชีย-แปซิฟิก กลุ่ม Axens บรรยายเรื่อง “Solutions for Energy Transition by Innovated Technologies” ว่า บริษัทมีประสบการณ์ใน biofuels และ biotech มากกว่า 40 ปี โดย 80% ของภารกิจในปัจจุบันโฟกัสไปในเรื่องเทคโนโลยีเพื่อเชื้อเพลิงแบบยั่งยืน และมีวิศวกรที่เชี่ยวชาญด้านนี้กว่า 20 คน บริษัทนำเสนอโซลูชั่นครบวงจรสำหรับการแปลงน้ำมันและชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด เช่น การรีไซเคิลทางเคมีของพลาสติก การบำบัดและการแปลงก๊าซธรรมชาติทั้งหมด การบำบัดน้ำ ตลอดจนการดักจับคาร์บอน รวมไปถึงโซลูชั่นการจัดเก็บข้อมูล

เจฟฟ์ เคตัน ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าจาก Axens ในเอเชียแปซิฟิก
เจฟฟ์ เคตัน ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าจาก Axens ในเอเชียแปซิฟิก

“เรามุ่งเน้นการนำเสนอเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่หมุนเวียนได้ เพราะเรามีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพยากรแบบหมุนเวียนจำนวนมาก เช่น เทคโนโลยีวีแกน (vegan technology) เป็นสารละลายน้ำมันพืชที่ผ่านการบำบัดด้วยไฮโดรทรีต (HVO) รุ่นที่สอง ซึ่งแปรรูปไขมันทุกชนิดได้สูงสุดถึง 100% รวมถึงของเสียจากการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารเพื่อผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียน ทั้งนี้ ความยืดหยุ่นเป็นข้อได้เปรียบหลักของเทคโนโลยีวีแกนของ Axens ในแง่ของวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และการใช้งาน”

บาฟส์การันตีน้ำมันทุกหยด

ส่วนในช่วงของการเสวนา Pioneering Sustainable Aerospace : พลิกโฉมน่านฟ้า สู่การบินยั่งยืน “หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวว่า ธุรกิจการบินมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่อง อย่างข้อมูลล่าสุด สายการบินอินเดียได้สั่งเครื่องบินลำใหม่ไปแล้วกว่า 500 ลำ ซึ่งจะส่งมอบในปี 2030 ถือเป็นสถิติที่สูงมากในอุตสาหกรรมนี้

“ผมมองว่าทิศทางธุรกิจการบินยังคงเติบโตไปได้เรื่อย ๆ และมากกว่าที่เราเห็นในปัจจุบัน แต่ปัญหาคือเราต้องเร่งพัฒนาเรื่อง SAF ให้เร็วที่สุด ซึ่งมีความท้าทายคือ แหล่งผลิต SAF ไม่พอ และสายการบินทั่วโลกมีการแข่งขันกันสูง แม้ว่าสายการบินจะจดทะเบียนในไทย แต่ยังต้องแข่งกับสายการบินต่างชาติอยู่ดี อย่างฝั่งยุโรป ออกกฎระเบียบมาแล้วว่า สายการบินที่บินในยุโรปจะต้องมี SAF 2% และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ม.ค. 2024 เป็นต้นไป”

“หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์” กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งความท้าทายคือ SAF ที่ผลิตขึ้นจะต้องได้รับการรับรอง และมีมาตรฐาน เพราะ SAF มีแหล่งที่มาต่างกัน เช่น ทำมาจาก biomass อาจจะช่วยลดคาร์บอนระดับหนึ่ง หรือทำมาจากน้ำมันพืชใช้แล้ว อาจจะลดได้ระดับหนึ่ง ซึ่งราคาอาจจะไม่เท่ากัน แต่ทั้งนั้นต้องมีการตรวจสอบ และผ่านการรับรอง เพื่อให้ทุกคนมั่นใจว่า “น้ำมันทุกหยดได้คุณภาพ” เติมเข้าไปแล้วสบายใจ ปลอดภัยแน่นอน ซึ่งบาฟส์จะมีบทบาทในการตรวจสอบ และการันตีคุณภาพน้ำมัน

อย่างไรก็ดี เมื่อเรามีแหล่งผลิตแล้ว ในอนาคตอาจจะต้องมีแหล่งผลิตที่เป็นสารตั้งต้นของ SAF ด้วย เช่น biomass ผลิตจากสาหร่ายทะเล น้ำตาล เอทานอล แอลกอฮอล์ ซึ่งมีความหลากหลายมาก ความท้าทายคือจะเบลนด์อย่างไร เพื่อให้ได้คุณภาพ จึงต้องหาแหล่งเบลนดิ้งโลเกชั่นที่มีความเหมาะสม ทั้งด้านขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สร้างคนรุ่นใหม่ สู่การบินยั่งยืน

“ดร.กาน เอิร์น เลียว” หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี จากแอร์บัสมาเลเซีย กล่าวว่า เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินบรรลุเป้าหมาย net zero ในปี 2050 นั้น SAF มีส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย และถึงแม้ว่าเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเชีย โดยรวมจะมีจำนวนประชากรมากที่สุด แต่ภูมิภาคนี้ยังมีช่องโหว่ในแหล่งกำเนิดชีวมวลเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทั้งนี้ การบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบินอยู่ที่การใช้เชื้อเพลิง และการตระหนักถึงการใช้เชื้อเพลิงที่ถูกต้องและเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ

นอกจากนั้น ทั่วโลกต้องดึงดูดระบบนิเวศทั้งหมดให้ทำงานร่วมกัน โดยให้สิ่งจูงใจต่าง ๆ เช่น โครงการสำหรับการพัฒนาการวิจัย รวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ และสร้างกำลังคนที่มีความสามารถสร้างอนาคตเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะอีกไม่นานคนรุ่นปัจจุบันจะเกษียณและต้องให้คนรุ่นต่อไปมาสานต่อ

“สำหรับแอร์บัส เรามีความคิดริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก และในอนาคตในแง่ของจำนวนเครื่องบินแน่นอนว่าปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ จะมุ่งเน้นไปที่ SAF ซึ่งเครื่องบินของแอร์บัสทั้งหมดสามารถใช้เชื้อเพลิง SAF ได้ 100% แต่กำลังรออนุมัติใบรับรองการใช้เชื้อเพลิง”

ภาครัฐทั่วโลกส่งเสริมการใช้ SAF

“ยงยุทธ ลุจินตานนท์” Area Manager IATA Thailand, Laos, Cambodia and Myanmar กล่าวว่า การใช้ SAF ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ภาครัฐทั่วโลกต้องร่วมหานโยบายส่งเสริมการใช้ SAF เพื่อให้สายการบินมีไดเร็กชั่นเข้าไปปฏิบัติ รวมทั้งมีสเกลอัพที่จะใช้ในแต่ละปีว่าจะใช้ปริมาณเท่าไหร่ และผู้ผลิตจะผลิตแต่ละปีปริมาณเท่าไหร่

รวมถึงการมองหาแหล่งผลิตเพิ่มเพื่อให้เพียงพอ และต้องดูฝั่งผู้ใช้บริการสายการบินว่ายอมรับ หรือมั่นใจว่ามีความปลอดภัยสะดวกสบายในการเดินทางเหมือนเดิม และค่าโดยสารที่เป็นธรรม ต้องยอมรับว่าตอนนี้ราคาของ SAF ยังแพงกว่าปกติ 3-5 เท่า แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อมีผู้ผลิตเร่งผลิตเพิ่มมากขึ้น แล้วมีผู้ประกอบการเห็นด้วยและเข้ามาทำร่วมกันมากขึ้น ราคาอาจจะลดลง

เร่งกฎหมายหนุนใช้ SAF

“ปิยะชาติ อิศรภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ทุกคนทราบว่า SAF เป็นเชื้อเพลิงสะอาดและดี แต่ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเรียกร้องว่าทำอย่างไรให้สายการบินมีเที่ยวบินที่รักษ์โลก และเป็นราคาที่สมเหตุสมผล อีกทั้งการเดินทางแบบยั่งยืนถือเป็นเรื่องไก่กับไข่ ซึ่งหมายถึงต้องดูว่ากฎหมายจะนำ หรือความต้องการจะนำก่อน

ทั้งนี้ บทบาทภาคธุรกิจจะมีส่วนขับเคลื่อนอย่างไร โดยเฉพาะอำนาจการต่อรอง ยกตัวอย่าง ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เหมือนจะดี แต่ยังไม่สามารถแทนที่เครื่องยนต์สันดาปได้

ปัจจุบันการขับเคลื่อนแต่ละนโยบายของภาครัฐต้องอาศัยเอกชน นอกจากนี้การใช้เวลาในการไปถึงจุดนั้นจะนานแค่ไหน เพราะคนทำธุรกิจมองหลายอย่างโดยเฉพาะต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ต้องดูเงื่อนไขต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งทั้งผู้ออกกฎเกณฑ์ นักธุรกิจ และผู้บริโภคจะต้องวิน-วินไปด้วยกัน เพราะคนทำธุรกิจต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนประชาชนจะต้องได้รับความปลอดภัยและราคาที่เป็นธรรม

นักเดินทางแนะเร่งสื่อสาร SAF

“อินทิพร แต้มสุขิน” ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์สายกรีน แชร์มุมมองในฐานะนักเดินทางว่า ถ้าสายการบินมีการใช้เชื้อเพลิง SAF ผู้โดยสารก็จะต้องใช้บริการโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ดังนั้นจำเป็นจะต้องสร้างการรับรู้ รวมถึงมีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือยืนยันด้วยว่า เครื่องบินที่ใช้ SAF นั้นมีความปลอดภัย

“สุวิกรม อัมระนันทน์” พิธีกร และ CEO บริษัท แบล็คดอท จำกัด กล่าวว่า ในประเทศฝั่งอียูเริ่มบังคับใช้ให้น้ำมันมีส่วนผสมของ SAF แล้ว ถ้าหากไม่มีส่วนผสมอาจจะโดนปรับ และส่งผลให้ค่าตั๋วเครื่องบินแพงขึ้น ทั้งนี้ หากสายการบินทั่วโลกใช้ ผู้โดยสารก็ต้องใช้บริการ ไม่มีใครปฏิเสธได้ อย่างไรก็ตาม บางจากถือเป็นเจ้าแรกที่ทำเชื้อเพลิง SAF จึงควรดีลกับสายการบินนำร่องการใช้ และทำการตลาดให้ผู้โดยสารร่วมแคมเปญสนุก ๆ เช่น สะสมแต้ม เพื่อแลกสิทธิพิเศษ

นับเป็นมุมของผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับโลกและระดับประเทศที่ช่วยสร้างแนวคิดเพื่อการเดินทางที่ยั่งยืน