“RP” ทำแผน CSR 10 ปี นำร่องวางทุ่นแนวปะการัง

ระบบนิเวศทางทะเลเป็นระบบนิเวศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งยังมีความสำคัญต่อสมดุลโดยรวมของนิเวศบนบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปะการัง อันเป็นแหล่งหมุนเวียนสารอาหารในท้องทะเล ช่วยป้องกันชายฝั่งจากคลื่นขนาดใหญ่ และมีความสำคัญมากในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อันเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ จนทำให้มีการจ้างงานผ่านการท่องเที่ยวอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) หรือ RP ผู้ให้บริการเรือข้ามฟาก เกาะสมุย เกาะพะงัน อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี มายาวนานถึง 38 ปี ที่นอกจากจะดำเนินกิจการทางธุรกิจ ยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุดบริษัทจัดทำแผน corporate social responsibility (CSR) ระยะยาว 10 ปี

โดยเริ่มจากโครงการวางแนวทุ่นร่องน้ำป้องกันแนวปะการังบริเวณท่าเรือท้องศาลา เกาะพะงัน

“อภิชาติ ชโยภาส” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในด้านธุรกิจบริษัทมุ่งมั่นตั้งใจให้บริการดีที่สุดแก่ผู้โดยสาร เพื่อให้เดินทางถึงที่หมายโดยสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ขณะที่ด้านสังคม เราพยายามทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมผ่านกิจกรรมหลากหลายมาโดยตลอด

“ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมจิตอาสาราชาเฟอร์รี่ทำความสะอาดท่าเรือ และชายหาดลิปะน้อย เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ชายหาดบริเวณเขาหัวบอน อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี และท่าเรือดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี เรายังมีกิจกรรมปลูกป่าชายเลน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสวยงาม และเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติให้คงอยู่เช่นเดิม รวมไปถึงการมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กแลเยาวชน”

“หลังจากที่ทำกิจกรรมหลากหลายมาหลายปี เราจึงคิดต่อว่าควรจะมีแนวทางที่ชัดเจน ที่สุดจึงกำหนดแผนงานด้าน CSR ระยะยาวเป็นเวลา 10 ปี เริ่มจากโครงการวางแนวทุ่นร่องน้ำป้องกันแนวปะการังบริเวณท่าเรือท้องศาลา เกาะพะงัน และโครงการจัดการขยะภายในองค์กร บนเรือและบริเวณท่าเรือทุกแห่ง ส่วนสาเหตุที่เลือกเกาะพะงันในการนำร่องเพราะเป็นเกาะที่มีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ และมีจุดดำน้ำทั้งลึก และตื้นหลายแห่ง แถมยังมีชื่อเสียงเรื่องฟูลมูนปาร์ตี้ด้วย”

“จนตอนหลังขยายมาเป็น ฮาล์ฟมูน และเทศกาล แบล็กมูนเพิ่มเติม จึงดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งใน และต่างประเทศจำนวนมากให้เดินทางไปเยือน แต่เมื่อคนไปเยือนจำนวนมาก ก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในการอยู่อาศัยร่วมกับท้องทะเล เพราะแต่ละวันเกาะพะงันมีเรือเข้าออกจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่หลักในการสัญจรเรือเดินทางออกจากเกาะไปสู่ฝั่ง”

จึงมองเห็นความสำคัญของบริเวณนี้ เนื่องจากพื้นที่โดยรอบมีปะการังอุดมสมบูรณ์อยู่จำนวนมาก จึงอยากจัดทำทุ่นเพิ่มเติม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เรือต่าง ๆ เห็นอย่างชัดเจน เพื่อให้เรือเหล่านั้นเลี่ยงแนวปะการัง

“อภิชาติ” บอกต่อว่า ราชาเฟอร์รี่ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายดอกไม้ทะเลเพื่ออนุรักษ์เกาะพะงัน core sea ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิจัยระบบนิเวศใต้ทะเลนานาชาติ และทีมอาสาสมัครนักประดาน้ำในการวางทุ่น เพื่อให้สามารถมองเห็นร่องน้ำอย่างชัดเจนจากระยะไกล อันเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการท่าเรือ และชาวพะงันในระยะยาว

“โดยเราใช้ทุ่น 10 ลูก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร บริเวณปากร่องท่าเรือท้องศาลาทั้ง 2 ด้าน คือด้านซ้ายและขวา รวมระยะทางประมาณ 300-400 เมตร ส่วนการผูกทุ่นจะไม่ใช้การผูกกับปะการัง เพราะทำให้ปะการังเกิดความเสียหาย แต่เราใช้สมอปักลงไปใต้ทรายในทะเลเพื่อผูกทุ่น และให้มีระยะห่างจากปะการังพอสมควร”

“เรามองว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลอย่างเดียว เราจึงตั้งใจสนับสนุนงานของทางเทศบาล และกรมเจ้าท่า ซึ่งดูแลพื้นที่ส่วนรวมที่ใช้ร่วมกัน อีกอย่างเรามีกิจการอยู่ที่นี่ จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันดูแลพื้นที่ให้เกาะพะงันยังคงความงดงามตามธรรมชาติ ผมจึงตั้งใจมากที่จะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นก่อนเป็นเรื่องแรก”

“หลังจากนี้เรายังมีโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่จะทำต่อไปในอนาคต โดยวางแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องระยะยาวถึง 10 ปี เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน หลายโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ โครงการจัดการขยะภายในองค์กรบนเรือและบริเวณท่าเรือทุกแห่ง ซึ่งเป็นเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการทำธุรกิจเพื่อประโยชน์ของชุมชนและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน”

“ภัทรชัย เรืองศรี” ประธานเครือข่ายดอกไม้ทะเล กล่าวเสริมว่า การร่วมมือกันเป็นกุญแจสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะเพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถทำงานได้ทันเวลากับความเสียหายที่เกิดขึ้นทุก ๆ วัน

“กลุ่มของเราเป็นอาสาสมัครที่รวมตัวกันด้วยใจ ใช้แรงช่วยเหลือกัน แต่ไม่มีงบประมาณ ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานของเครือข่ายเราได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนอยู่บ้าง เป็นในรูปแบบการสนับสนุนน้ำดื่ม อาหาร เป็นต้น ส่วนการเข้ามาร่วมมือของภาคเอกชนในการวางทุ่นนับเป็นครั้งแรก ซึ่งการมีทุ่นในท้องทะเลเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการวางทุ่นจะทำให้เรือมองเห็นร่องน้ำได้ชัดเจนตั้งแต่ไกล”

“เรือต่างถิ่นจะรู้ความกว้างของร่องน้ำ ทำให้สามารถกะระยะการเดินเรือได้ รู้ว่าบริเวณนั้นมีปะการัง จึงต้องเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงเข้าใกล้แนวดังกล่าว ทุ่นเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยรักษาป้องกันปะการังเสียหาย เพราะปะการังมีประโยชน์มากกว่าแค่ให้ความสวยงามใต้ท้องทะเล และหากได้รับความเสียหายต้องใช้เวลานานมากในการฟื้นฟู ซึ่งผลกระทบของการไม่มีแนวปะการัง ได้แก่ ชายฝั่งถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงจากคลื่นลมทะเลในฤดูมรสุม ขาดแหล่งอาหารของสัตว์และพืชนานาชนิด ส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ เป็นต้น”

นับเป็นเรื่องดีที่ทั้งภาคเอกชน รัฐ และ NGOs ร่วมมือกันให้ความห่วงใยในปะการังและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อให้ท้องทะเลยังคงมีความสมบูรณ์ไปอีกนาน