SDGs ก้าวใหม่ธุรกิจไทย จากทุนหมู่บ้านถึงกระดานหุ้นโลก

ต้องยอมรับความจริงว่าเรื่องของเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals-SDGs) จำนวน 17 เป้าหมาย และมีเป้าประสงค์ร่วม 169 เป้าประสงค์ ทั้งยังมีตัวชี้วัดทั้งหมด 241 ตัว อันจะเป็นทิศทางของโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี

คือนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016-2030 อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับบางคนหรือบางองค์กรเพราะเรื่องของ SDGs ไม่เพียงจะเป็นการสานต่อภารกิจการทำงานที่ยังไม่บรรลุผลตาม millennium development goals-MDGs) เพื่อมุ่งขจัดความยากจนทุกมิติและในทุกรูปแบบ หากยังเน้นถึงการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย

แต่การจะขับเคลื่อน SDGs ให้บรรลุเป้าประสงค์นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ SDGs ให้กับประชาชนทุกระดับเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน ทั้งยังต้องสร้างการมีส่วนร่วม และการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ อันถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวเนื่องกับ 1 ใน 17 เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผลเช่นนี้จึงทำให้ “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” และ “หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ” จึงมองเห็นความสำคัญของ SDGs ไปในแนวทางเดียวกัน โดยเฉพาะกับเรื่องการขยายองค์ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทของความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่สุดจึงจัดสัมมนาเพื่อสังคมแห่งปีขึ้นในหัวข้อ “SDGs ก้าวใหม่ธุรกิจไทย จากทุนหมู่บ้านถึงกระดานหุ้นโลก”

ที่ไม่เพียงจะมี “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มาปาฐกถาพิเศษเรื่อง “จากศาสตร์พระราชาสู่ SDGs พัฒนาไทยยั่งยืน”

ทั้งนั้น เพราะ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” มองว่า การจะขับเคลื่อน SDGs ให้ได้ผลสัมฤทธิ์ ปัจจัยสำคัญคือ ฮาวทู ที่ต้องมาคิดอีกว่าหลายคนมีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน และชุมชน

“ต่อจากนั้นต้องมองว่า เมื่อมีความเข้าใจแล้วจะทำอย่างไรต่อไป และจะนำไปบูรณาการอย่างไร เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญมาก ภาษาผมคือกัดไม่ปล่อย หรือการทำอย่างต่อเนื่อง และต้องพร้อมสร้างความเข้าใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่สร้างความเข้าใจแล้วจบ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง เพราะ SDGs ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต่อเนื่องมาจาก MDGs ผมจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นการตั้งต้นที่ดีมาก ๆ ในศตวรรษที่ 21”

“แต่สำหรับประเทศไทยการจะร้อยเรียงมิติของ SDGs ก้าวใหม่ธุรกิจไทย จากทุนหมู่บ้านถึงกระดานหุ้นโลก ถือว่าเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานให้เห็นเป็นตัวอย่างมาตลอด 70 ปี พระองค์เสด็จลงไปพบชาวบ้าน นั่งกับพื้นรับฟังปัญหาจากชาวบ้านจริง ๆ ตรงนี้เป็น bottom up จากล่างขึ้นบน ซึ่งแตกต่างจากคนทั่วโลกที่มักจะทำจากบนลงล่าง”

“พระองค์อยากฟังว่าชาวบ้านต้องการอะไร ซึ่งเป็นการเกาถูกที่คัน ทั้งยังถือเป็นการตรวจสอบปัญหาและความต้องการของชุมชนโดยตรง เมื่อทราบปัญหาแล้วพระองค์ทรงลงมือศึกษาและนำสิ่งที่ค้นพบกลับคืนไปสู่ประชาชนอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหา และความต้องการของประชาชนจริง ๆ”

ถัดจากนั้นจะเป็นการสัมมนาพิเศษในหัวข้อ “SDGs จากแนวคิดสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างยั่งยืน” ที่มี “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทั้งยังเป็นประธานคณะกรรมการเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย มาร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ด้วย

โดยมี “ดร.กฤษฎา เสกตระกูล” รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มาร่วมแสดงความคิดเห็นในมุมมองที่แตกต่าง หรืออาจสอดรับในประเด็นเดียวกันที่ไม่เพียงจะเห็นแนวคิด วิธีคิดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในมิตินานาประเทศ หากยังทำให้เห็นอีกด้วยว่าหากเราจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ตาม 17 เป้าหมายของ SDGs นั้น องค์กรต่าง ๆในบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะช่วยเหลือสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างไรได้บ้าง

ส่วนภาคบ่ายจะมีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “SDGs สะพานเชื่อม ลดเหลื่อมล้ำประเทศไทย” โดย “ดร.ปรเมธี วิมลศิริ” ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะมาฉายตัวเลขพร้อมกับบอกกล่าวข้อมูลให้ได้เห็นภาพจริงในปัจจุบันว่าภาครัฐต่างให้ความสำคัญกับ 17 เป้าหมายของ SDGs อย่างไรยิ่งเฉพาะเรื่องการขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ, การสร้างหลักประกันให้การศึกษามีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ครอบคลุม และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน รวมไปถึงเรื่องการอนุรักษ์และใช้มหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอื่น ๆ อย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และอื่น ๆ อีกมากมายซึ่งล้วนเป็นข้อมูลที่สืบเนื่องจากภาคเช้าที่จะทำให้ผู้ร่วมสัมมนาเห็นภาพจริงอย่างต่อเนื่อง

เพราะต่อจากนั้นยังมีสัมมนาพิเศษอีกหนึ่งหัวข้อ คือ “ค้นหาคำตอบ…อนาคตประเทศไทย” ที่ไม่เพียงจะมี “สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย” ประธานกรรมการบริหารเทสโก้ โลตัสมาร่วมพูดคุยถึงนโยบาย Little Help Plan ของเทสโก้ โลตัสที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะในเป้าหมายที่ 1 เรื่องการขจัดความยากจน

ทั้งนั้น เพราะเทสโก้ โลตัสมีโครงการรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรโดยตรงจากเกษตรกร โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางที่ไม่เพียงเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ หากยังทำให้พวกเขามีรายได้มั่นคงด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยการเปิดช่องทางการจำหน่ายสินค้า และร่วมงานกันในการผลิตสินค้าแบรนด์เทสโก้ โลตัส รวมไปถึงการให้ความรู้เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้า และคุณภาพให้เท่าเทียมกับระดับสากล

ที่สำคัญคือแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนของ SDGs เนื่องจากเทสโก้ โลตัสจำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร โดยเฉพาะอาหารสดมีปริมาณมากในแต่ละวัน จึงทำให้เกิดอาหารเหลือทิ้ง ทางเทสโก้ โลตัสจึงประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นผู้นำลดการทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้

จนปัจจุบันเทสโก้ โลตัสมีร้านค้ารูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 40 สาขา ด้วยการทำหน้าที่บริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมด แต่ยังมีคุณภาพให้กับมูลนิธิต่าง ๆ รวมถึงผู้ยากไร้ ภายใต้โครงการกินได้ ไม่ทิ้งกัน โดยเริ่มต้นจากไฮเปอร์มาร์เก็ต 23 สาขาในกรุงเทพฯและปริมณฑล ก่อนที่จะขยายสาขาไปทั่วประเทศต่อไปในอนาคต

นอกจากนั้น ในช่วงสัมมนาเวลาเดียวกัน ยังมี “สมศักดิ์ บุญคำ” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Local Alike จะมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องการนำการท่องเที่ยวมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนผ่านกองทุนการท่องเที่ยวโดยชุมชน

จนทำให้ชาวบ้านมีทักษะความรู้ และมีศักยภาพในการบริหารชุมชนอย่างยั่งยืน ที่สำคัญยังทำให้เกิดการกระจายรายได้ภายในชุมชนเพิ่มขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดจิตสำนึกที่ดีทางด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย

ขณะที่มุมมองอีกคนของเวทีเดียวกัน คือ “รังสฤษฎ์ คุณชัยมัง” ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง อ.แม่พริก จ.ลำปาง ซึ่งแม้ชุมชนผาปังจะเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีอยู่เพียง 5 หมู่บ้าน 462 ครัวเรือน และมีประชากรเพียง 1,098 คน

ที่สำคัญหมู่บ้านผาปังยังประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนที่ดินทำกิน เพราะที่ดินบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ขณะเดียวกัน ประชากรอีกบางส่วนยังย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น จึงทำให้ไม่สามารถจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลผาปังได้

แต่กระนั้น ชาวบ้านในชุมชนผาปังกลับมองเรื่องการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ และการศึกษานี่เองที่ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มกลับมา แม้จะอายุใกล้วัยเกษียณหรือเกษียณอายุแล้วก็ตาม แต่ทุกคนคือผลผลิตจากการศึกษา พวกเขาจึงมารวมตัวกันเพื่อฟื้นฟูชุมชนของตัวเอง

ด้วยการจัดการเรื่องปัญหาภัยแล้ง ต่อจากนั้นจึงมองหา “นางเอก” ของหมู่บ้าน คือ “ไผ่” ด้วยการนำมาพัฒนา ต่อยอด และแปรรูป จนทำให้เกิดถ่านที่มีประสิทธิภาพสูงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย จนทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาเริ่มดีขึ้นจนถึงทุกวันนี้

แต่จะเป็นอย่างไรในรายละเอียดต้องลองไปฟัง “รังสฤษฎ์” อธิบายในงานสัมมนา แล้วทุกคนจะทราบด้วยตัวเองว่า “จากทุนหมู่บ้าน ถึงกระดานหุ้นโลก” เป็นอย่างไร

โดยงานสัมมนาครั้งนี้จะมีขึ้นในวันพุธที่ 1 สิงหาคม 2561 ระหว่างเวลา 08.30-15.30 น. ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ผู้ใดสนใจลงทะเบียนฟังฟรีได้ที่ www.prachachat.net