SCG Circular Economy ชวนทุกภาคส่วนดูแลโลก

ต้องยอมรับว่า “Circular Economy” หรือ “แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” ถือเป็นนวัตกรรมที่ปฏิวัติรูปแบบการผลิตและบริโภคครั้งใหญ่ของโลกนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการของเสียที่ใช้ หรือบริโภคแล้วนำกลับมาเป็นทรัพยากรที่ใช้หมุนเวียนในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม

ไม่ว่าจะเป็นการนำไปสู่กระบวนการผลิตใหม่ (reprocess) การออกแบบใหม่ (redesign) การสร้างคุณค่าใหม่ (added value) การสร้างนวัตกรรมใหม่ (innovation) การใช้ซ้ำ (reuse) ตลอดจนการสร้างความร่วมมือ (collaboration) ที่เพิ่มขึ้น ทั้งที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรใหม่น้อยที่สุด เกิดประโยชน์สูงสุด และยังลดปริมาณขยะ

 

ขณะเดียวกันยังทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมากขึ้น มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน อันเป็นการสร้างคุณค่าที่ดี ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ จากข้อมูล CEO Guide to the Circular Econ-omy, WBCSD (World Business Council for Sustainable Development)คาดการณ์ว่าแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจได้ถึงราว 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การจะทำให้ แนวคิดนี้แพร่หลายถูกนำไปใช้ในวงกว้างทุกภาคส่วน สิ่งที่สำคัญคือการสร้างความตระหนัก จิตสำนึก ทัศนคติ และความเชื่อให้กับผู้บริหารคนในองค์กร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชนทั่วไปให้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว เพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับโลกใบนี้

ด้วยเหตุนี้ “เอสซีจี” จึงจัดงานสัมมนา “SD Symposium 2018” ภายใต้แนวคิด “Circular Economy : The Future We Create” ขึ้น เพื่อจุดประกายผลกระทบที่โลกกำลังเผชิญ และชี้ให้เห็นความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว ผ่านการสร้างความเข้าใจ การสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคสู่แนวปฏิบัติของเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการนำเสนอตัวอย่างการนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งมีองค์กรชั้นนำระดับโลก ภาครัฐ ภาคประชาสังคมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ ชุมชน มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและต้นแบบความสำเร็จ

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่าในปี 2030 ความต้องการใช้ทรัพยากรของโลกจะสูงถึง3 เท่าของปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่

“ปัจจัยดังกล่าวเกิดจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเดินหน้าพัฒนาประเทศ และเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดโลก ซึ่งสวนทางกับปริมาณทรัพยากรที่ลดลงเรื่อย ๆ ทั้งจากการถูกทำลาย การใช้อย่างไม่รู้คุณค่า ความไม่สมดุลนี้ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล”

“ขณะเดียวกันเมื่อทรัพยากรถูกนำไปใช้แล้วจะกลายเป็นขยะจำนวนมาก โดยปัจจุบันคนไทย 1 คน สร้างขยะเฉลี่ยถึงวันละ 1.1 กิโลกรัม และที่จริงแล้วขยะเหล่านั้นสามารถนำกลับมาใช้เป็นทรัพยากรใหม่ได้มากกว่าร้อยละ 60 แต่ทุกวันนี้นำไปใช้ได้เพียงร้อยละ 31 เท่านั้น เพราะเราไม่ตระหนัก และให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงทำให้เสียโอกาสในการนำทรัพยากรเหล่านั้นกลับมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อไป”

“Circular Economy จึงเป็นแนวคิดที่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เพราะจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ไม่มีของเหลือทิ้งในกระบวนการตั้งแต่การผลิต การบริโภค จนถึงการจัดการเมื่อสินค้าหมดอายุ”

แต่การจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ และยั่งยืน “รุ่งโรจน์” บอกว่า สิ่งสำคัญคือความร่วมมือทุกภาคส่วน ซึ่งเอสซีจีเองในฐานะภาคธุรกิจ จึงขอเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนได้อย่างแท้จริงเนื่องจากที่ผ่านมา เอสซีจีได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ ผ่านการขับเคลื่อนใน3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

หนึ่ง reduced material use และ durability ซึ่งเป็นการลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต

สอง upgrade และ replace เป็นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้า หรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง หรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น

สาม reuse และ recycle เป็นการเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วให้กลับมาใช้ใหม่

“ไม่เพียงเท่านี้ เอสซีจียังสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งใน และต่างประเทศเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ หรืออย่างการจัดสัมมนาครั้งนี้ที่เชื่อว่า

จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรม และกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

“ปีเตอร์ บากเกอร์” ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(WBCSD-World Business Council forSustainable Development) กล่าวว่า ในปัจจุบันโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะการเมืองมีอิทธิพลครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ มากมาย ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจที่ยากเกินกว่าจะคาดเดาได้ อีกทั้งเรื่องความยั่งยืนยังเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จะไม่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศา

“ทั้งการประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development goals-SDGs) ที่เป็นแนวทางการพัฒนาโลกใน 15 ปี (2016-2030) ที่จะเป็นการสร้างอนาคตที่ดีที่ทุกคนต้องการ เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ รวมถึงปรากฏการณ์ที่เห็นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับปัญหาพลาสติกในท้องทะเล โดยเฉพาะภาพปลาวาฬที่ตายเกยชายหาด ที่ในท้องเต็มไปด้วยพลาสติก ยิ่งสร้างความตระหนกให้แก่ผู้คนทั่วโลก จนหลายประเทศได้ออกมาตรการเพื่อจัดการเรื่องดังกล่าว”

“ที่ผ่านมามีงานวิจัยระบุว่า หลาย ๆ ธุรกิจสามารถสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้นได้ ถ้านำเอาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นเป้าหมายใหญ่ขององค์กร เพราะการใช้ทรัพยากรเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะตอบโจทย์ทางเศรษฐศาสตร์ขององค์กร และการที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องค่อย ๆ ปรับกระบวนการธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือมีประสิทธิภาพดีที่สุด นอกจากนี้ความร่วมมือยังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้เกิดนวัตกรรมที่จะผลักดันให้เกิดวิธีคิดใหม่ ๆ”

“ปีเตอร์ บากเกอร์” กล่าวอีกว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับระบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่เป็นเส้นตรง ที่ไม่ใช่แค่นำทรัพยากรมาผลิตสินค้า และนำไปบริโภค แล้วทิ้งไป (take-make-dispose) แต่เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สุงสุด เพื่อเปลี่ยนขยะ หรือของเสียให้นำกลับมาใช้หมุนเวียน (make-use-return) ได้ ตรงนี้ถือเป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

“ปัจจัยที่ภาคธุรกิจควรนำมาพิจารณา เพื่อให้เดินไปตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบด้วย สินค้าจะมีอายุยาวนานได้อย่างไร จะทำบริการให้เกิด sharing platform ได้อย่างไร จะนำทรัพยากรมาหมุนเวียนใช้ได้อย่างไร จะทำบริการให้เป็นสินค้า (product as a service) ได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้เกิด circular supplies”

ที่สำคัญ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม จะทำให้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดผลในวงกว้าง ทั้งการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและนวัตกรรม ลดการใช้ทรัพยากร และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้คน และชุมชนทั่วโลกให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

อันจะทำให้ความตกลงปารีส และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแท้จริง