สร้าง 411ent สไตล์ “กึ้ง” “ธุรกิจผมผลิตความสุขให้แฟนคลับ”

หากเอ่ยชื่อ “กึ้ง” หรือ “เฉลิมชัย มหากิจศิริ” ภาพที่คนจดจำคือ ทายาทของ “ประยุทธ มหากิจศิริ” เจ้าของฉายา “เจ้าพ่อเนสกาแฟ” 

ในแง่ของผู้ลงทุนในตลาดทุน เป็นที่รับรู้กันว่า “เฉลิมชัย” เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) บริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีที่ปัจจุบันมีพอร์ตการลงทุนในกลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ กลุ่มธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร และกลุ่มการลงทุนอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี อีกพาร์ตหนึ่งของผู้บริหารคนนี้ที่แฟนคลับเกาหลีต่างรู้จักเขาคือผู้บุกเบิก และเจ้าของบริษัท โฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด หรือ 411ent ผู้จัดอีเวนต์เกาหลี ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกิดจาก passion ของ “เฉลิมชัย” ที่มีความชอบเรื่องบันเทิงเป็นการส่วนตัว

Q : จุดเริ่มต้นของ 411ent

ต้องย้อนไปที่ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมเคยเล่นละครมาก่อน จากนั้นได้มาเจอกับ “พี่เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร” เขาชักชวนให้ลองทำละคร ออกมาเป็นเรื่องใต้ฟ้าตะวันเดียว ซึ่งผมเป็นคนชอบทำอะไรใหม่ ๆ และชอบเทคโนโลยีเจ๋ง ๆ จึงถ่ายทำละครด้วยกล้อง HD ซึ่งสมัยก่อนจะใช้กล้องเบต้าเท่านั้น อีกอย่างที่ทำ และถือเป็นครั้งแรกของวงการละครไทย คือ นำนักแสดงจากเกาหลีมาเล่นด้วย และจากโปรเจ็กต์นี้ทำให้ผมมีคอนแท็กต์

กับเกาหลี หลังจากนั้นก็มีบริษัทบันเทิงเกาหลีติดต่อเข้ามาที่บริษัทว่า มีความสนใจด้านอื่น ๆ ของเกาหลีหรือไม่ เช่น การรับดูแลศิลปิน, การจัดแฟนมีตติ้ง ซึ่งเมื่อพูดคุยกันแล้วเราก็สนใจ จึงเริ่มเข้ามาจับธุรกิจนี้เต็มตัว หากนับเป็นเวลาในการก่อตั้งธุรกิจก็ 10 ปีแล้ว

Q : เรียนรู้การทำธุรกิจนี้อย่างไร

จริง ๆ แล้วถือว่าเป็นธุรกิจใหม่สำหรับเรา และใหม่สำหรับตลาดในไทยในขณะนั้นด้วย แม้จะมีงานแฟนมีตติ้งบ้าง แต่ไม่ได้เยอะเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งด้วยความที่ผมไม่ได้เข้าใจธุรกิจนี้มากนัก โปรเจ็กต์แรก ๆ จึงเลือกคนดังก่อน คือ “ลีมินโฮ” โดยได้ทำการบ้านเสริม ทั้งเรื่องการดูแลศิลปิน การดูแลแฟนคลับ สถานที่ และโปรดักชั่นอื่น ๆ เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด ทุกอย่างเป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ ลองผิด ลองถูก เพราะยังไม่มีประสบการณ์จริง ๆ และไม่เข้าใจวิธีการทำงานของเกาหลีที่มีรายละเอียดเยอะมาก

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาจนถึงตอนนี้ ทำให้ผมรู้ว่าการทำงานในธุรกิจนี้ไม่มียากหรือง่าย ถ้าหากว่าเราเข้าใจในระบบ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าแต่ละค่าย แต่ละศิลปิน จะมีความแตกต่างกัน แต่ในความต่างก็มีความเหมือน คือ วัฒนธรรมของเขาจะมีภาพองค์รวมที่มีความคล้ายกันอยู่ ส่วนที่แตกต่างนั้นเป็นแค่รายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น ซึ่ง 411ent ได้พัฒนาตัวเองจนเข้าใจว่า วัฒนธรรมการดูแลศิลปินเกาหลีเป็นอย่างไร วัฒนธรรมของแฟนคลับที่มาซื้อบัตรเป็นแบบไหน ซึ่งเมื่อเรามีความเข้าใจเป็นอย่างดี ก็ทำให้ธุรกิจสามารถอยู่ได้

Q : หลักที่ใช้ในการทำงาน

ความจริงใจ ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่เรื่องนามธรรม ความจริงใจ คือ สิ่งที่จับต้องได้มากที่สุด และเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ เพราะคือการมีเครดิต หรือความน่าเชื่อถือ ถ้าคุณมีความจริงใจ คุณจะมีความน่าเชื่อถือมาก เมื่อคุณมีความน่าเชื่อถือมาก ก็ไม่จำเป็นต้องมีสัญญา เพราะคำพูดของคุณจะสำคัญมากกว่าสัญญาที่อยู่ในกระดาษเสียอีก

ผมมองว่าการทำธุรกิจนี้ทุกอย่างอยู่ที่ความจริงใจ เรามีความจริงใจในการทำงานของเรา เพราะไม่ได้อยากทำแค่ปีเดียว แต่อยากทำให้ทุกคนมีความสุข เกาหลีมีความสุข แฟนคลับมีความสุข มีรอยยิ้มกลับบ้าน นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมยังทำธุรกิจนี้อยู่ และเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ทีมงานของ 411ent ทุกคนเดินไปข้างหน้าต่อ

Q : เป้าหมายของ 411ent

โจทย์ของผมมีแค่ทำให้แฟนคลับมีรอยยิ้ม ธุรกิจของ 411ent เริ่มจาก passion ก่อนจะเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ และสุดท้ายสิ่งที่ทำให้ 411ent ไปต่อได้ในเชิงธุรกิจ คือ แฟนคลับ การจะเดินไปข้างหน้าได้ขึ้นอยู่กับแฟนคลับว่าต้องการให้เป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าผมต้องการให้เกิดเป้าทางธุรกิจขนาดไหน หรือตั้งธงไว้ว่าปีนี้ต้องมีกี่คอนเสิร์ต คือด้วยความที่เรารู้จักแฟนคลับมานาน เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน เมื่อเรารักแฟนคลับ แล้วแฟนคลับรักเรา จึงเกิดสิ่งดี ๆ เพิ่มขึ้น ถ้าเราสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อไปได้เรื่อย ๆ เป้าหมายทางด้านธุรกิจจะตามมาเอง

Q : การแข่งขันของธุรกิจนี้

ธุรกิจอีเวนท์เกาหลีไม่สามารถมองในแง่ของรายได้ เพราะไม่ใช่ธุรกิจขายของ แต่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับความรู้สึกของคน ซึ่งคนต้องเสียเงินเพื่อซื้อบัตรเข้ามาดู และสัมผัสกับ experience ดังนั้น ธุรกิจนี้คือการทำให้คนมีรอยยิ้มกลับไป แต่คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในธุรกิจนี้จะคิดแต่เพียงรายได้ และกำไร เขาจึงอยู่ไม่ได้ เพราะไปตัดต้นทุนต่าง ๆ ทำให้โปรดักชั่นไม่ดี คนที่เข้ามาชมก็ไม่แฮปปี้ ซึ่งเมื่อศิลปินไม่แฮปปี้ แฟนคลับไม่แฮปปี้ ธุรกิจก็อยู่ต่อไปไม่ได้

สิ่งที่ผมพยายามจะบอกคือต่อให้ผมต้องขาดทุน แต่หากได้รอยยิ้มจากแฟนคลับ ผมก็ทำ ในช่วง 4 ปีแรกของการทำธุรกิจ ผมขาดทุนทุกปี ต้องซัพพอร์ตบริษัทด้วยเงินตัวเองตลอด แต่ผมมีความสุขที่ได้เห็นทุกคนมีความสุข ซึ่งถ้าผมให้ความสำคัญกับกำไร ผมปิดบริษัทไปตั้งแต่ 2 ปีแรกแล้ว เพราะขาดทุน ไม่มีการเติบโต ไม่มีอะไรเลย มีแต่รายจ่ายล้วน ๆ ต่อรองอะไรกับใครก็ไม่ได้ แต่ที่ 411ent ยืนหยัดมาได้จนถึงตอนนี้ เพราะ passion ของผม และรอยยิ้มของแฟนคลับ ซึ่งเขามาซื้อความสุข เขาไม่ได้มาซื้อสินค้า เราจึงต้องขายความสุข ต่อให้เราต้องลงทุนแล้วขาดทุน แต่เพื่อให้เขามีความสุข ผมก็ต้องลงทุน เพราะนั่นคือการลงทุนเพื่อให้เกิดความสุข

Q : กระบวนการเทรนพนักงาน

บริษัทมีพนักงาน 20 กว่าคน ไม่รวมซัพพลายเออร์ ซึ่งด้วยความที่ผมถูกสอนมาแบบ tough love หรือสอนด้วยการดุ ผมก็สอนพนักงานแบบนี้เช่นกัน โดยผมมองว่าลึก ๆ ของการดุนั้นคือความรักที่อยากให้เราดีขึ้น และเก่งขึ้น แรก ๆ เมื่อพนักงานโดนดุก็หนีผม แต่ตอนนี้พวกเขาเข้าใจแล้วว่าสไตล์การทำงานของผมเป็นอย่างไร และในอีกแง่หนึ่งผมมองว่านี่เป็นการทดสอบคนด้วย

เพราะถ้าหากว่าเราดุเขา แล้วเขารับได้ อยากพัฒนาตัวเอง เขาคือคนที่น่าสอน แต่ถ้าเขารับไม่ได้ สอนไปแล้วสุดท้ายเขาก็ไปอยู่ดี มันเสียเวลาสำหรับเรา เพราะการที่เราจะสอนคนคนหนึ่งให้เก่งได้ ต้องใช้เวลานาน ซึ่งผมเชื่อว่าแต่ละคนมีความสามารถอยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าคนคนนั้นอยากเอาความสามารถออกมาหรือไม่ ดังนั้น คนที่ยังอยู่ และอยากจะพัฒนาต่อคือคนที่เราควรลงทุนด้วย

Q : อนาคตของ 411ent

ผมพูดเสมอว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ ตอนนี้เรากำลังมองว่าจะนำเทคโนโลยีมาผสานกับแพลตฟอร์มที่เรามีอยู่อย่างไร เพื่อเสริมธุรกิจให้แข็งแกร่งมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมองถึงการต่อยอดธุรกิจที่จะไม่ใช่แค่ผู้จัดอีเวนต์เกาหลีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงการนำศิลปินจากประเทศอื่นเข้ามาด้วย

ซึ่งคิดว่าคงอีกไม่นานคงเห็นกัน