“ดีแทค” ผนึก “SIIT” สร้าง “AI Lab” พัฒนานักศึกษามืออาชีพ

ผู้ที่เชี่ยวชาญด้าน AI (artificial intelligence) จะเป็นแรงงานที่ได้รับความต้องการในตลาดแรงงานสูงมากในอนาคต ด้วยเหตุนี้ ดีแทคจึงลงทุนกว่า 12 ล้านบาท พร้อมกับทำงานร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้าง AI Lab เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาด้านธุรกิจให้สัมพันธ์กับการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ในอนาคต

“ดร.อุกฤษ ศัลยพงษ์” หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ช่องทางการขายและบริหารการบริหารผลการปฏิบัติงานดีแทค กล่าวว่าจุดประสงค์ของการเปิดตัว AI Lab เพื่อผนึกกำลังสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ไม่เพียงแต่นำเสนอประสบการณ์ไร้รอยต่อแก่ลูกค้าทั้งแบบออนไลน์ และในศูนย์บริการ หากยังช่วยคนให้สามารถคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น เพราะเราใช้ระยะเวลา 2 ปี ในการก่อสร้าง AI Lab แห่งนี้ เพื่อทำให้ดีแทค และ SIIT ได้รับประโยชน์ร่วมกัน

“โดยระยะเริ่มต้น AI Lab จะมุ่งเน้นกระบวนการที่จะช่วยย่นระยะเวลาในการทำงาน โดยใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการทำงาน ตัวอย่างเช่น พัฒนาระบบการยืนยันตัวตน (ID verification system) เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และความรวดเร็วในการประมวลผลการยืนยันการลงทะเบียนซิม เป็นต้น”

“นอกจากนั้น ดีแทคยังจัดหานักวิจัยชั้นนำมาเป็นโค้ชในการพัฒนาความสามารถทางด้านการพัฒนาอัลกอริทึม และ AI เพื่อจัดการกับความท้าทายทางธุรกิจ ส่วนผู้เชี่ยวชาญจาก SIIT และนักศึกษาจะมีโอกาสทำงานร่วมกับบุคลากรของดีแทค และผู้เชี่ยวชาญ ในการค้นคว้า วิจัย และหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากโมเดลธุรกิจของจริง เพื่อฝึกทักษะและใช้ AI ในระดับต่อไป ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ว่า machine learning ทำงานอย่างไร”

ดีแทคให้ความสนใจกับ AI เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง และหลากหลายมากขึ้น การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าจึงมีมากขึ้น โดยลูกค้าดีแทคสร้างชุดข้อมูลจำนวน 1 พันล้านชุดต่อวัน ซึ่ง AI สามารถช่วยบริหารจัดการข้อมูลลูกค้าได้ โดยปัจจุบันดีแทคใช้แชตบอตในการตอบคำถามของลูกค้า 20% ผ่านทาง Facebook, 30% ผ่านทาง SMS ซึ่งมีอัตราความถูกต้องของการตอบสนองสูงถึง 80% นอกจากนั้น ดีแทคยังใช้ AI สำหรับการแนะนำในแอปพลิเคชั่น และสามารถเพิ่มยอดขายในปัจจุบันได้ถึง 30%

“ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง” อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า AI Lab ช่วยให้เราสามารถเชื่อมโยงนักศึกษากับข้อมูลในโลกแห่งความจริง เพื่อส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เข้าใจเหตุการณ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจริง โดย AI Lab เป็นสถานที่สำหรับทุกคนที่ไม่เพียงแต่ผู้สอนจะสามารถสอนผู้เรียนได้เท่านั้น แต่นักศึกษายังสามารถเรียนรู้จากกันได้อีกด้วย

“AI Lab มีพื้นที่ 140 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนชั้น 1 ของสถาบัน โดยมีรูปแบบเป็น coworking space ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับใช้ความคิด และการระดมสมอง ทั้งยังปรับรูปแบบฟังก์ชั่นการทำงานของห้องได้หลากหลายตามความต้องการ เพราะแนวความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ และไอเดียมีความเป็นโมเดิร์นคล้าย ๆ กับ AI Lab ของประเทศนอร์เวย์”

“ที่ผ่านมามักมีคนถกเถียงกันเรื่อง AI ว่าจะทำให้คนตกงาน แต่ความจริงแล้ว AI มาช่วยผลักดันให้คนพัฒนาทักษะของตนเองให้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ภาคการศึกษาก็ต้องพัฒนาหลักสูตร ที่ทำให้เด็กไม่ได้เรียนแค่ในหนังสือ แต่ต้องออกแบบหลักสูตรที่ทำให้ผู้เรียนคิดเอง เอาไปใช้ และแก้ปัญหาได้”

“เราเชื่อว่า จุดเริ่มต้นจาก Lab เล็ก ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ จะสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI พร้อมกับช่วยคลี่คลายปัญหาทางด้านธุรกิจและสังคมไปในเวลาเดียวกัน เพราะจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปข้างหน้าที่จะช่วยให้เทคโนโลยีเกิดความยั่งยืน อีกทั้งยังส่งต่อการเรียนรู้ และความเข้าใจให้คนรุ่นใหม่นำสิ่งที่มีอยู่ไปสร้างสรรค์จนเกิดเป็นความคิดใหม่ ๆ ต่อไปในอนาคตด้วย”

“นาฏฤดี อาจหาญวงศ์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล ดีแทค กล่าวถึงการสำรวจของ McKinsey & Company Inc. ว่ามีบริษัทในปัจจุบันมากถึง 50% ที่ใช้เทคโนโลยี AI หรือกำลังทดลองใช้ ซึ่ง AI ทำให้งานบางอย่างของมนุษย์หายไป และแน่นอนว่าทำให้เกิดงานใหม่ขึ้น ซึ่งหลาย ๆ งานจะมีลักษณะงานที่เปลี่ยนไปจากผลกระทบของ AI

“AI ทำให้ดีแทคเกิดความท้าทาย 2 อย่าง คือ หนึ่ง ทรานส์ฟอร์มการทำธุรกิจ สอง ทรานส์ฟอร์มคน และองค์กรเพื่อสอดรับกับ AI ซึ่งการทรานส์ฟอร์มคนและองค์กรสำหรับดีแทคไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรามีพนักงานกว่า 4,000 คนจึงต้องใช้ระยะเวลานาน”

“โดยการทรานส์ฟอร์มคนต้องเริ่มจาก mindset ก่อน ควรมีการรู้จักการตั้งสมมติฐาน กล้าลองผิดลองถูก ถัดมาคือการพัฒนาทักษะพนักงาน โดยที่ดีแทคเราใช้รูปแบบการพัฒนาที่จุดแข็ง (strength-based development) ส่งเสริมให้คนค้นหาตัวเอง และเรามีโปรแกรม 40 hour challenge ที่พนักงานเรียนรู้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ เรียนวันไหน ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้”

“ในการสนับสนุนพฤติกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในองค์กร ดีแทคเปลี่ยนวิธีการประเมินผลงาน และให้ผลตอบแทนพนักงาน โดยมุ่งเน้นสิ่งที่พนักงานต้องการ ดีแทคให้พนักงานเรียนรู้สิ่งที่พวกเขาสนใจ ลดการประเมินผลงานประจำปีที่ขึ้นอยู่กับ KPIs”

ถึงแม้ AI จะเป็นขุมพลังในอนาคต แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือบุคลากรที่มีความสามารถ และเข้าใจปัญหา จนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน